วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

แนวทางง่าย ๆ การเพิ่มผลผลิตยางพารา

วิธีการง่าย ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา

1. รักษาความชื้นของหน้าดิน โดยการถางหญ้าอย่างถูกวิธีตามฤดูกาล

2. ใส่ปุ๋ยชีวภาพปีละ 2 ครั้ง (100-300 กก./ไร่/ปี)

3. รดหรือพ่นน้ำหมักฮอร์โมน เดือนละ 2 ครั้ง ในช่วงที่ดินมีความชื้น

4. ใส่ปุ๋ยเคมีโดยตรวจสอบแร่ธาตุในดินก่อน แล้วเติมแร่ธาตุที่ยังขาดอยู่เท่านั้นเพื่อลดต้นทุน

ความต้องการแร่ธาตุของต้นยางพาราหลังเปิดกรีดแล้วเป็นดังนี้ (คิดที่ยางให้ผลผลิต 300 กก./ไร่)
- N 20 กก.
- P 5 กก.
- K 25 กก.
- Mg 5 กก.
หากผลผลิตเพิ่มมากกว่านี้เช่น 600 กก./ไร่/ปี เราจะต้องเพิ่มปุ๋ยอีกเป็น 2 เท่า หรือโดยสรุปต้องใส่ปุ๋ยเคมี 4 กก./ต้น/ปี เมื่อผลผลิตที่ได้ 600 กก./ไร่/ปี จึงจะเพียงพอเพื่อชดเชยกับผลผลิตที่เราเอาออกจากต้นยาง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราบริหารจัดการอย่างถูกวิธี อาจลดปุ๋ยลงเหลือเพียง 2 กก./ต้น เมื่อเราใส่ปุ๋ยหมัก ผสมภูไมท์ในปุ๋ยเคมีเพื่อดูดซับแร่ธาตุไว้และค่อย ๆ ปลดปล่อยอย่างช้า ๆ ใส่ปุ๋ยโดยขุดร่องแล้วฝังกลบเพื่อป้องกันการระเหยของปุ๋ย ซึ่งอาจสูญเสียได้ถึง 30 %

5. การกรีดยางต้องกรีดให้ถึงเยื่อเจริญ ซึ่งทำให้ท่อน้ำเลี้ยงขาดเสียหายไม่สามารถส่งขึ้นไปสังเคราะห์น้ำยางที่ทรงพุ่มได้ ผลผลิตลดลง ต้นแคระแกรน รักษาหน้ายางให้ปราศจากโรครา โดยใช้สารชีวภาพทาหน้ายางเดือนละ 2 ครั้ง เลื่อนหน้ายางให้ถูกแนวกล่าวคือเมื่อขึ้นหน้าใหม่ต้องเลือนถอยหลัง(ตามเข็มนาฬิกา) มิเช่นนั้นจะเป็นการตัดท่อน้ำยางก่อนถึงรอยกรีด

6. ป้องกันการขโมยน้ำยางจากบุคคลภายนอก หรือแม้แต่คนกรีดเอง

7. ทำยางแผ่นให้มีคุณภาพ หรือร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่มี เพื่อให้ผลผลิตมีราคาสูง จะได้ไม่เสียโอกาศ

8. การเปิดครอปแต่ละครั้ง ให้เปิดกรีดต้นฤดูฝนเมื่อดินมีความชื้นพอสมควรแล้ว และหยุดกรีดเมื่อยางเริ่มผลัดใบ มิใช่ยางผลัดใบและเริ่มแตกใบอ่อนแล้ว เพราะเมื่อยางผลัดใบแล้วก็ไม่มีใบที่จะสังเคราะห์แสง ผลผลิตที่ได้ในช่วงนี้ควรให้ต้นยางได้เก็บสะสมไว้ในลำต้นเพื่อการแตกใบใหม่เถอะ ใบใหม่ที่แตกออกมาจะได้แข็งแรงไม่เป็นโรคง่าย

9.กรีดระบบ 1 วัน เว้น 2 วัน มิเช่นนั้นอาจเจอปัญหาหน้าแห้ง ยางไม่เติบโต ต้นเล็กแคระเกร็น ยางที่อายุ 15 ปี ควรมีเส้นรอบลำต้นไม่น้อยกว่า 100 ซม.

10. เมื่อสภาพดินพร้อม ต้นยางโตได้ขนาด(เส้นรอบลำต้น 60 ซม. ขึ้นไป) ก็ใช้ฮอร์โมนแอทธิลีนเพิ่มศักยภาพการผลิต อย่ากลัวหน้าแห้ง หรือ ต้นยางตายเลย ทุกสิ้งทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการ ระบบดีแต่ใช้ผิดวิธีก็เสียหาย



มาตี่

นวัตกรรมใหม่ของชาวสวนยางพาราไทย

ในยุคการค้าเสรีที่ไร้พรมแดน ทุกอาชีพต้องมีการแข่งขันกันเพื่อให้เหลือเฉพาะรายที่เกร่งจริง ๆ เท่านั้น ผลประกอบการของทุกอาชีพควรได้รับผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อรวมอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก กล่าวคือผลตอบแทนควรมากกว่า 20 % ขึ้นไป

สำหรับพื้นที่ปลูกยางในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณไร่ละ 200,000 - 300,000 บาท ชาวสวนยางจึงควรสร้างรายได้จากสวนยางให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/ปี/ไร่ ซึ่งเป็นผลตอบแทนประมาณ 20 %

ปัจจุบันผลตอบแทนจากสวนยางพาราได้จาก

1. มูลค่าราคาที่ดินที่สูงขึ้น ประมาณปีละ 5-10 % (250,000 * 5 % ประมาณ 12,500 บาท)

2. ผลผลิตจากยางแผ่น ที่ผลผลิตประมาณไม่น้อยกว่า 600- 1,000 กก./ไร่/ปี (คิดที่ราคายางแผ่นเฉลี่ย 70 บาท/กก. รายได้ 600 กก.*70 บาท ประมาณ 42,000 บาท)

3. รายได้จากพืชแซม เช่น ผลผลิตจากกอไผ่ ไม้เศรษฐกิจ ไม้พุ่ม (ผักเหมียง) ประมาณ 5,000 บาท/ไร่/ปี

4. รายได้จากกการขายไม้ยางที่อายุ 50 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1,500 บาท/ไร่/ปี

กล่าวโดยสรุป หากสามารถทำสวนยางให้เป็นไปตามเงื่อนไขรายได้ข้างต้น จะมีรายได้ประมาณ 61,000 บาท/ไร่/ปี เป็นผลตอบแทนที่คุ้มกับอัตราเงินเฟ้อรวมอัตราดอกเบี้ย

ทำสวนยางพาราอย่างไรให้ได้ผลผลิต 600-1,000 กก./ไร่/ปี

1. ทำเลที่ตั้งสวนยาง ต้องมีความชื้น หน้าดินไม่ตื้นเกินไป ความลาดชันไม่สูงมากไป หากลาดชันสูงใช้เครื่องทุนแรงยาก ค่าใช้จ่ายสูง ในกรณีที่บางส่วนเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ก็ควรใช้เครื่องจักรกลปรับสภาพพื้นที่ ยกร่อง ขุดคูระบายน้ำ ไม่ให้รากยางแช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ

2. จัดระยะปลูกให้เหมาะสม ระยะปลูกที่เหมาะสมคือระยะปลูกที่ต้นยางมีพื้นที่ทรงพุ่มกว้างสามารถสังเคราะห์แสงผลิตน้ำยางให้เราได้มากที่สุด และสามารถเติบโตขยายลำต้นมีเส้นรอบวงลำต้นได้ไม่น้อยกว่า 120 ซม. เมื่อถึงเวลาโค่นขาย ในกรณีที่ปลูกยางสายพันธุ์ยอดฮิต RRIM 600 ระยะที่เหมาะสมคือ 3*8 หรือ 3*9 ซึ่งจะปลูกยางได้ 60-67 ต้น/ไร่ หากอัตรารอดไม่น้อยกว่า 90 % จะได้ต้นยางประมาณ 54-60 ต้น/ไร่ และเมื่อดูแลอย่างปราณีตให้เติบโตสม่ำเสมอทั้งแปลง ควรจะได้ต้นยางพร้อมกรีดขนาดเส้นรอบวงลำต้น 60 ซม. ที่อายุ 6 ปีเต็ม ไม่น้อยกว่า 50- 60 ต้น/ไร่

3. การจัดวางผังแนวแถวยาง ต้องวางแนวยางตามแนวตะวัน ทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการโค่นล้มจากลม และให้สามารถรับแสงเพื่อการสังเคราะห์แสงได้เท่า ๆ กันทุกต้น การตัดถนนหลัีก และ ถนนซอยในแปลงให้มีขนาดกว้างเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรทุ่นแรง เช่น ถนนหลักกลางอกยาง และ ถนนซอยขวางทุก ๆ 100 เมตร(กรณีใช้สายเครื่องพ่นยา 50 เมตร จะพ่นได้สองข้าง ซ้ายขวา) กว้าง ประมาณ 4 เมตร แนวรอบแดนสวนควรปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อเป็นกำบังลมและสามารถสู้กับต้นไม้หรือยางเก่าของพื้นที่ติดแดน

4. พันธุ์ยาง ควรเลือกพันธุ์ยางให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค ใบร่วงน้อย เพื่อให้สามารถสังเคราะห์แสงผลิตน้ำยางได้มากตลอดปี พันธุ์ยางแนะนำได้แก่

- RRIM 600
- RRIT 251 (ยางพื้นเมือง อ.นาทวี จ.สงขลา)
- สายพันธุ์ลุงฉิ้ม จ.ตรัง (DRC 45-48%)
และสายพันธุ์ยางใหม่จากมาเลเซียที่ให้ผลผลิตสูงและโตเร็ว ได้แก่
- RRIM 2001
- RRIM 929
- RRIM 2027
- PB 350
สายพันธุ์ยางเหล่านี้ สามารถให้ผลผลิตได้ที่ 500 กก./ไร่/ปี เมื่อบำรุงรักษาอย่างดี และโตเร้ว ที่อายุ 4 ปี มีขนาดเส้นรอบวง 50-60 ซม.

5. วิธีการปลูก ควรเลือกใช้วิธีปลูกเมล็ดในแปลงแล้วติดตาในแปลง ทั้งนี้เพื่อให้ยางหยั่งรากแก้วลงไปในดินได้ลึก สามารถดูดซึมน้ำใต้ดินได้ลึก และ ไม่โค่นล้มง่าย หากินเก่ง เมล็ดยางที่ใช้ควรเป็นเมล็ดสายพันธุ์พื้นเมืองหรือ GT1 หรือ BPM 24 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคไฟท๊อปเทอร่า หากินเก่ง ต้นตอเหล่านี้ต้องบำรุงรักษาตั้งแต่แรกให้ลำต้นสมบูรณ์ก่อนติดตา

6. การติดตา เลือกกิ่งตาที่สมบูรณ์เท่านั้น คัดเลือก 2 ตา/กิ่ง เมื่อตัดยอดเดิมแล้วให้ใช้ไม้มบบังตา เพื่อป้องก้นกิ่งตาใหม่หักเสียหาย

7. เทคนิคการใส่ปุ๋ย ให้เลือกใส่เฉพาะต้นเล็กที่โตช้าเท่านั้น เพื่อให้ต้นยางโตสมำาเสมอเท่ากันทั้งแปลง หลังจาก 2 ปีไปแล้วต้นยางโตเท่ากันจึงใส่ปุ่ยให้ทุกต้น ประมาณ 3-4 ครั้ง/ปี (ใส่น้อยแต่บ่อยครั้ง) ยางจะโตอย่างรวดเร็ว ยางอายุ 5 ปี เส้นรอบลำต้นประมาณ 50-60 ซม.

8. หมั่นตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ต้นยางสูญเสียโอกาศเติบโตไปกับกิ่งแขนง

9. ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพควบคู่กับการฉีดน้ำหมักฮอร์โมน เพื่อทำให้สภาพดินมีวงจรสิ่งมีชีวิตที่สมดุลย์ ดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุ ช่วยอุ้มน้ำ pH ดินต่ำลง จุลินทรีย์ในดินช่วยย่อยสลายธาตุประกอบ P และ K ให้อยู่ในรูปที่ยางสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ดี ควรมีอินทรีย์วัตถุ 2 ส่วน และ รำ 1 ส่วน และมีแร่ธาตุเสริม เช่น ภูไมท์ แร่ฟอสเฟต ขี้ค้างคาว เป็นส่วนผสม และไม่ควรอัดเม็ด เพราะความร้อนจะทำให้จุลินทรีย์ตายได้

ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ควรมีอินทรีย์วัตถุประมาณ 5 % (ซึ่งสภาพดินทั่วประเทศมีอินทรีย์วัตถุเพียง 2 % เท่านั้น) เราจึงควรเติมอินทรีย์วัตถุให้ดิน 100-300 กก./ไร่/ปี

10. ยางพาราที่อายุ 4-8 ปี ควรได้รับแคลเซี่ยม-แมกนีเซี่ยม เพื่อสร้างทรงพุ่มประมาณ 1-1.5 กก./ต้น/ปี

11. การรักษาความชื้นหน้าดิน โดยการปลูกพืชแซมเพื่อคลุมดิน เช่น ผักเหมียง ไผ่ ไม้สะเดา ทัง ตะเคียนทอง กล้วยขายใบ ฯลฯ หลังจากยางอายุ 4 ปีไปแล้ว ต้องบริหารจัดการหญ้าให้ถูกต้องตามฤดูกาล กล่าวคือ ถางด้วยรถแทรกเตอร์เมื่อเข้าฤดูเปิดกรีด 1 ครั้ง และอีกครั้งช่วงเดือนตุลาคม แต่ถางเฉพาะทางเดิน 2 ข้างเท่านั้น เว้นตรงกลางเพื่อรักษาความชื้น หรือตัดต่ำ ๆ หากกลัวเรื่องไฟไหม้สวนก็ให้ถางเตียนริมแดนรอบสวนเท่านั้น

12. การเปิดกรีดครั้งแรก ให้เปิดกรีดเมื่อยางมีเส้นรอบวงลำต้นขนาดไำม่น้อยกว่า 60 ซม. เพื่อให้ต้นยางสามารถเจริญเติบโตได้ต่อเนื่องหลังจากเปิดกรีดแล้ว

13. การเปิดกรีดระบบรักษาหน้ายาง เปิดกรีดหน้าสั้น 4 นิ้ว ร่วมกับการใช้ฮอร์โมนเร่งน้ำยาง กรีด 1 วัน เว้น 2-3 วัน
- การกรีดระบบนี้มีประโยชน์มากในเรื่องการประหยัดหน้ายาง (สามารถกรีดหน้าแรกได้ไม่ต่ำกว่า 50 ปี)
- กรีด 1 วัน เว้น 2-3 วัน จะช่วยให้ต้นยางมีเวลาได้สังเคราห์น้ำยางจากน้ำตาลที่อยู่ในน้ำเลี้ยง ซึ่งปกติใช้เวลา 72 ชม.
- แผลกรีดแต่ละครั้งควรหนาไม่เกิน 2.5 มม. ซึ่งในระยะกรีด 1 ปี มีรอยกรีด 60 ครั้ง สูญเสียหน้ายางประาณ 15 ซม. ที่หน้ายางความสูง 120 ซม. จะสามารถกรีดได้ 7 ปี และต้นยางที่อายุ 15 ปี มีขนาดเส้นรอบลำต้นประมาณ 90-100 ซม. (หากบำรุงรักษาดี) จะสามารถแบ่งหน้ากรีดได้ประมาณ 10 หน้า (กรณียางมีอายุมากกว่า 10 ปี จะสามารถกรีดได้สูงถึง 150 ซม. หน้ายางหน้านี้สามารถกรีดได้ 8 ปี)

จะเห็นได้ว่าระบบนี้ทำให้ท่านสามารถกรีดยางหน้าแรกได้ถึง 50 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องโค่นปลูกใหม่ ซึ่งการกรีดระบบเก่าสูญเสียหน้ายางเร็วมากและต้องโค่นปลูกใหม่บ่อยเป็นการสูญเสียทางเศณษฐกิจอย่างร้ายแรง

ยางพาราที่อายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่ขนาดรอบลำต้น 120 ซม. ควรมีน้ำหนักมวลรวม 1,500 กก. จะสามารถให้ผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 กก./ไร่/ปี

14. การใช้เสื้อกันฝน เป็นการป้องกันน้ำฝนลงถ้วยรับน้ำยาง สามารถเพิ่มวันกรีดในฤดูฝนได้อีก 20 วัน/ปี หรือได้ผลผลิตเพิ่ม 200 กก./ไร่/ปี (1 ครั้งกรีด ได้ผลผลิต 10-18 กก./ไร่) เราไม่ควรสูญเสียโอกาศเก็บผลผลิตในช่วงฤดูฝนซึ่งดินมีความชื้นสูง

15. การให้ผลตอบแทนคนกรีดยาง คนกรีดยางควรมีรายได้ประมาณ 120,000 - 180,000 บาท/ครอบครัว/ปี เพื่อจูงใจให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและีรักงาน มีใจร่วมกับเจ้าของสวนในการบำรุงรักษาต้นยาง รักษาหน้ายาง เสมือนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ


สิ้งต่าง ๆ เหล่านี้ที่กล่าวมาเป็นเพียงเกล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ชาวสวนยางอาจละเลย หากท่านเอาใจใส่จดบันทึกจะเห็นตัวเลขชัดเจน เราหวังว่าชาวสวนยางทุก ๆ ท่าน จะหันมาสนใจในธุรกิจสวนยางที่ท่านทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม จักได้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำมากกว่าเดิมคุ้มค่าการลงทุน

หากชาวสวนยางสนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ ยินดีให้คำแนะนำทุกประการ นอกจากนี้เรายังสามารถให้คำแนะนำการใช้ฮอร์โมนแอทธิลีนเร่งน้ำยางของทุก ๆ ระบบ (เพราะลองมาหมดแล้ว) มีข้อมูลและสวนตัวอย่างให้ดู และนอกเหนือจากนี้ยังให้คำแนะนำอื่น ๆ อีกเช่น

- การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อใส่ปุ่ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน ไม่ต้องสุ่มใส่ปุ๋ยสูตรโดยไม่รู้สภาพดินเดิม จะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย
- คำแนะนำแหล่งปุ๋ยคุณภาพที่ราคาไม่แพง
- มีปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพคุณภาพสูง แบ่งกันใช้ในหมู่เหล่า ไม่ทำเป็นการค้า
- มีน้ำหมักชีวภาพสูตรผสมพิเศษ ทาหน้ายางรักษาโรคเชื้อรา และทำให้เปลือกนิ่ม กรีดง่าย
- รับให้คำปรึกษาการทำสวนยางอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงประเด็น


มาตี่

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)

เชื้อราปฏิปักษ์
เชื้อราปฏิปักษ์ หมายถึงเชื้อราที่มีความสามารถในการต่อสู้กับศัตรูพืชได้ ซึ่งมีหลายประเภท คือ เชื้อราที่ต่อสู้กับแมลง โดยสามารถเข้าทำลายแมลง หรือเชื้อราที่เข้าทำลายเชื้อราก่อโรคในพืชหลายชนิด เช่น เชื้อราโรคเหี่ยว เป็นต้น
โรครากและโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราเป็นโรคที่พบได้บ่อยในการปลูกมะเขือม่วง การนำเชื้อราปฏิปักษ์มาใช้จะช่วยควบคุมโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงต่อผลผลิตและเกษตรกร เชื้อราปฏิปักษ์ที่รู้จักกันดีคือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่ เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มายังสามารถผลิตปฏิชีวนสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มาคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค
จากผลการดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึงปัจจุบัน สามารถคัดเลือกเชื้อราไตรโคเดอร์มาจากดินในธรรมชาติได้หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ CB-Pin-01 มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคของพืชเศรษฐกิจต่างๆทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดได้ในสภาพแปลงเกษตรกร ทั้งโรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน เช่น โรคเมล็ดเน่า โรคเน่าระดับดิน (โรคกล้ายุบ) รากเน่า หัวหรือแง่งเน่า และโคนเน่า เป็นต้น โรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่เหนือดินไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กิ่ง ผล ใบ หรือดอก เช่น โรคลำต้นไหม้ของหน่อไม้ฝรั่ง โรคแคงเกอร์ของมะนาว โรคราดำของมะเขือเทศ โรคใบปื้นเหลืองและโรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคแอนแทรคโนสของมะม่วงและพริกทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรครากเน่าของพืชผักสลัดและ ผักกินใบต่างๆที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร (ระบบไฮโดรโพนิกส์) และจากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าการแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนใช้หว่านลงในนาข้าว ช่วยลดการเกิดโรคเมล็ดด่าง เมล็ดลีบ ของข้าวที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิด ตลอดจนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์และน้ำหนักเมล็ด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ด้วย
กลไกในการต่อสู้กับเชื้อสาเหตุโรคพืช อยู่ 4 ประการ คือ
1. การแข่งขันกับเชื้อโรคพืช ด้วยเหตุที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญสร้างเส้นใยได้รวดเร็ว สามารถสร้างสปอร์ได้ในปริมาณสูงมาก โดยอาศัยอาหารจากเศษวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ จึงช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถแข่งขันกับเชื้อโรคพืชหรือจุลินทรีย์ ที่อยู่บริเวณเดียวกัน
2. การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วสามารถพันรัด แล้วแทงส่วนของเส้นใยเข้าสู่ภายในเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชทำให้เส้นใยตาย
3. การสร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อโรคพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถสร้างปฏิชีวนสาร สารพิษ และน้ำย่อย (เอนไซน์) เพื่อหยุดยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้
4. การชักนำให้พืชมีความต้านทานโรค เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถชักนำให้พืชสร้างกระบวนการผลิตสาร ประเภทเอนไซม์หรือโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อโรคได้
ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
1. ช่วยลดกิจกรรมของเชื้อโรคพืชได้ ยับยั้งและทำลายการงอกของสปอร์ แข่งขันการใช้อาหารเพื่อการเจริญของเส้นใยเชื้อโรคพืช รบกวนกิจกรรมต่าง ๆ ของเชื้อโรคทำให้ความรุนแรงลดลง
2. ช่วยลดปริมาณเชื้อโรคพืช ทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชโดยการพันรัดและแทง ทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคสร้างขึ้นสำหรับการขยายพันธุ์ ทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคพืชสร้างขึ้นเพื่ออยู่ข้ามฤดูกาล
3. ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตของพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันระบบรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อรา สาเหตุโรคพืช ทำให้ระบบรากพืชสมบูรณ์แข็งแรง เชื้อราไตรโคเดอร์มาผลิตสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ เชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยให้เมล็ดงอกและเจริญเติบโตดี
4. ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคของพืช กระตุ้นให้เกิดความต้านทานโรคขึ้นภายในพืช พืชที่มีระบบรากดี เจริญเติบโตดี แข็งแรง จึงต้านทานโรคได้ดีขึ้น
การควบคุมราที่ทำให้เกิดโรคของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า
1. สามารถควบคุมราที่ทำให้เกิดโรคพืชได้หลายชนิดเช่น เชื้อราพิเทียม ทำให้เกิดรากเน่า โคนเน่า โรคยอกเน่าของต้นกล้าในพืชไร่
2. เชื้อราไฟท็อบเทอร่า ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล
3. เชื้อสคลอโรเทียม ทำให้เกิดโรคกล้าไหม้ ราเม็ดผักกาด โรคเหี่ยวในพืชผัก
4. เชื้อราฟิวซาเรียม ทำให้เกิดโรคเหี่ยวในไม้ดอก
5. เชอราไรซ็อกโตเนีย ทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน
การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา
การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อขยายและเพิ่มปริมาณสามารถดำเนินการได้โดย 2 กระบวนการ คือ
1. กระบวนการหมักอาหารเหลว ( liquid substrate fermentation ) โดยใช้อาหารในรูปของเหลว เช่น กากน้ำตาลหรือโมลาส หรืออาหารเหลวสังเคราะห์ที่มีการเติมแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญของเชื้อ ไตรโคเดอร์มา
2. กระบวนการหมักอาหารแข็ง ( soild substrate fermentation ) โดยใช้อาหารที่เป็นของแข็ง เช่น เมล็ดพืช เมล็ดธัญญพืช ตลอดจนวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ ทั้งประเภทที่ยังเป็นเมล็ดอยู่ หรือที่บดเป็นผงละเอียดแล้ว
เชื้อสดหรือมวลชีวภาพของเชื้อที่ได้ จากกระบวนการผลิตสามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่ถ้าต้องการเก็บรักษาเชื้อราไตรโคเดอร์มาไว้เป็นเวลานาน ต้องนำเชื้อสดที่ได้มาผลิตให้อยู่ในรูปสูตรสำเร็จชนิดต่าง ๆ โดยนำเชื้อสดผสมผงสารพา เช่น ผงไดอะตอมไมท์ ซีโอไลท์ฯ แล้วทำให้เชื้ออยู่ในสภาพที่แห้ง สปอร์ของเชื้อหยุดการเจริญ และเข้าสู่ระยะพักตัว
สูตรสำเร็จของชีวภัณฑ์
1. ชนิดผงแห้ง ( powder ) ได้จากการผสมเชื้อสดกับผงสารพาต่าง ๆ เช่น ไดอะตอมเซียสเอิร์ท เวอร์มิคูไลท์ ไพโรฟิลไลท์ หรือผงดินเหนียว เป็นต้น จากนั้นจึงนำไปตากหรืออบให้แห้งที่อุณหภูมิไม่สูงนัก ก่อนบดเป็นผงละเอียด
2. ชนิดเม็ด ( pellet ) ได้จากการใช้สารโพลีเมอร์อินทรีย์บางชนิด เช่น อัลจิเนท โพลีอะครีลาไมด์ หรือคาราจีแนน ห่อหุ้มเม็ดเชื้อ หรือการใช้เชื้อเคลือบบนผิวของสารพาบางชนิด
3. ชนิดเกล็ด ( granule ) ได้จากการใช้สปอร์ของเชื้อสดผสมกับสารพาที่ละลายน้ำได้ดี หรือแขวนลอยดี ตกตะกอนช้า ทำให้อยู่ในรูปเกล็ดแห้ง
4. ชนิดเชื้อสด ( fresh culture ) ได้จากเชื้อสดที่เลี้ยงบนอาหารแข็งเช่น บนเมล็ดข้างฟ่าง จนได้ สปอร์สีเขียวเข้มปริมาณมาก ซึ่งต้องนำไปใช้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็น 5-10 องศาเซลเซียสได้ไม่เกิน 30 วัน
ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา รูปแบบที่นิยมผลิตเป็นการค้า คือ ชนิดผงแห้ง ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน คือ บริษัท ยูนิซีดส์ จำกัด ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิต ชีวภัณฑ์ ภายใต้ชื่อการค้า คือ "ยูนิกรีน ยูเอ็น-1" และ"ยูนิเซฟ" สำหรับบริษัทเอกชนที่พัฒนาการผลิตชีวภัณฑ์ด้วยตนเอง คือ บริษัทแอพพลายเค็ม จำกัด ผลิตชีวภัณฑ์ ภายใต้ชื่อการค้า "ไตรซาน" ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้ผ่านการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติวัตถุ อันตราย พ.ศ. 2535 เรียบร้อยแล้ว

วิธีการเลี้ยง เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าบริสุทธิ์
สูตรอาหาร PDA
1. มันฝรั่ง 200 กรัม
2. น้ำตาลกลูโคส 20 กรัม
3. วุ้น 17 กรัม
4. น้ำกลั่น 1,000 กรัม
วิธีการเตรียมอาหาร
1. หั่นมันฝรั่งเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มในน้ำ 500 ซีซี พร้อมใส่น้ำตาลลงไปต้มด้วยเมื่อสุกแล้วจึงกรองเอาเฉพาะน้ำ
2. นำวุ้นไปต้มกับน้ำในส่วนที่เหลือ คนให้ทั่ว เมื่อวุ้นสุกดีแล้วนำน้ำมันฝรั่งที่ได้ มาเทและคนให้เข้ากัน
3. ยกลงจากเตาแล้วเติมน้ำที่ขาดหายไปจนครบ 1000 ซีซี
4. เทอาหารที่ได้ลงในขวดแบนประมาณ 80 ซีซี จะได้ประมาณ8-10ขวด ปิดปากขวดด้วยสำลีห่อทับด้วยกระดาษฟร์อย
5. นำขวดอาหารไปนึ่งฆ่าเชื้อ ที่ ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว นาน 20 นาที
6. นำขวดอาหารที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว มาทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำไปเขี่ยเชื้อ
7. หลังเขี่ยเชื้อแล้วเก็บไว้ 7-10 วัน ก็สามารถนำไปเป็นแม่เชื้อได้
ขั้นตอนและวิธีการผลิตเชื้อราจากแม่เชื้อ
1. แช่เมล็ดข้าวฟ่างในนำสะอาด 1 คืน
2. เทเมล็ดข้าวฟ่างลงบนตะแกรงเพื่อผึ่งให้แห้ง
3. กรอกเมล็ดข้าวฟ่างลงในถุงพลาสติกถุงละ 300 กรัม
4. นำข้าวฟ่างไปนึ่งฆ่าเชื้อ ที่ ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว นาน 30 นาที
5. ทิ้งไว้ให้เย็น จึงนำไปเขี่ยเชื้อโดยเขี่ยเชื้อจากขวดแม่เชื้อบริสุทธิ์ใส่ในถุงข้าวฟ่างชิ้นละถุง(ขนาด 1x1cm )
6. เก็บถุงข้าวฟ่างที่เขี่ยเชื้อแล้วไว้ในห้องเย็น ที่อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศา หลังจากนั้น 3 วัน เชื้อราจะเริ่มเจริญเป็นเส้นใยสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวภายใน 7 วัน พร้อมที่จะนำไปใช้ได้
วิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างง่าย
วัสดุและอุปกรณ์
1. หัวเชื้อไตรโคเดอร์มาผง
2. ปลายข้าวสารประมาณ 6-10 กิโลกรัม
3. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
4. ถุงพลาสติกใสชนิดทนร้อนขนาด 8 x 12 นิ้ว
5. ยางรัดปากถุง
6. สำลีและแอลกอฮอล์
วิธีการ
1. หุงปลายข้าวสารด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใช้ปลายข้าว 3 ส่วน : น้ำสะอาด 2 ส่วนให้สุกประมาณ 90% อย่าให้สุกมากเกินไปเพราะจะทำให้ข้าวแฉะ
2. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดช้อนตัก พื้นโต๊ะบริเวณที่จะทำการถ่ายเชื้อให้สะอาด และใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดมือผู้ที่จะทำการถ่ายเชื้อด้วย เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่โดยรอบไม่ให้ปนเปื้อน
3. ตักใส่ถุงพลาสติกทนร้อน ประมาณ 200-250 กรัม ข้อพึ่งระวัง ให้ตักข้าวในขณะที่ยังร้อนอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยทำลายจุลินทรีย์อื่นๆจากอากาศที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ในถุง ข้าวด้วย นั่นก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถรักษาเชื้อสดที่ต้องการนี้ไว้ได้นานนัก
4. กดข้าว (ที่อยู่ในถุงพลาสติกแล้ว) ให้แบน รีดเอาอากาศออกจากถุง ให้ถุงพลาสติกแนบกับข้าว เพื่อลดการเกิดหยดน้ำ (ในถุงพลาสติก) แล้วก็รอให้ข้าวอุ่นหรือเกือบเย็น จึงจะนำไปใส่หัวเชื้อ (ไตรโครเดอร์มา)
5. ตักหัวเชื้อไตรโคเดอร์มาผง ประมาณ ครึ่งช้อนโต๊ะ (1-1.5 กรัม) ใส่ในถุงพลาสติกที่บรรจุข้าวไว้แล้ว และรัดปากถุงด้วยยางรัดให้แน่น ขยำข้าวกับเชื้อเข้าด้วยกันเบาๆ อย่าให้เม็ดข้าวถูกบี้จนเละ เพราะต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อการเดินของเส้นใยเชื้อราจะง่ายขึ้น (ขั้นตอนการถ่ายหัวเชื้อนี้ต้องเลือกสถานที่ที่สะอาดและต้องระมัดระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากสิ่งแวดล้อม)
6. รวบถุงให้บริเวณปากถุงพองแล้วใช้ปลายเข็มแทงถุงพลาสติกบริเวณรอบๆปากถุงที่รัดยางเอาไว้ ประมาณ 20 – 30 รู เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้ทั่วถุง
7. กดข้าวในถุงให้แน่นให้แผ่กระจายและแบนราบ แล้วดึงบริเวณกลางถุงขึ้นเพื่อเพิ่มอากาศ ข้อระวังในขั้นตอนนี้คือ ไม่ควรวางถุงซ้อนทับกัน
8. บ่มเชื้อในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท และปลอดภัยจากแมลงและมดรับแสงธรรมชาติ อย่างน้อย 10 – 12 ช.ม./วัน ข้อแนะนำ ในการบ่มเชื้อควรวางถุงเชื้อในบริเวณที่ได้รับแสงสว่างจากหลอดไฟฟลูออเรส เซนต์ หรือหลอดนีออน โดยให้แสงสว่างนาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน หรือ ตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้ เพื่อกระตุ้นการสร้างสปอร์ของเชื้อ เชื้อที่ขึ้นดีจะมีสีเขียวเข้ม
9. เมื่อบ่มเชื้อได้ 2 วัน จะเห็นเส้นใยของเชื้อราเริ่มเจริญ ให้ขยำข้าวในถุงเบา ๆ กดข้าวให้ แบนราบเช่นเดิม แล้วดึงกลางถุงให้โป่งขึ้นด้วย
10. บ่มต่ออีก 4 – 5 วัน จะเห็นเชื้อสีเขียวอย่างหนาแน่น
11. นำไปใช้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา อุณหภูมิอยู่ในช่วงระหว่าง 8 – 10 องศาเซลเซียส ข้อระวังในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บเชื้อที่ไม่ควรเก็บทิ้งไว้นาน เป็นแรมเดือน
การนำเชื้อราไตรโครเดอร์มาไปใช้ มีหลักการที่ว่า นำเชื้อราที่เพาะบ่มเอาไว้แล้วนั้นไปผสมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักจึงกลายเป็นอาหารของเชื้อราไปด้วยในตัว เชื้อราจะแผ่เชื้อในปุ๋ยหมักไปด้วย จากนั้นจึงนำปุ๋ยหมักไปใส่ดินในแปลงเพาะปลูกตามปกติ ดินที่ได้รับทั้งปุ๋ยหมักและเชื้อราไตรโครเดอร์มาก็ยิ่งทำให้ดินดีอุดมสมบูรณ์
วิธีการนำไปใช้
การใช้ราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์
ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์(ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอกเก่า)ในอัตราส่วน1:4:100โดยน้ำหนักโดย
- เติมรำข้าวเล็กน้อยลงไปในถุงเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด คลุกเคล้าและบีบให้เชื้อที่เกาะเป็นก้อนแตกออก ต่อจากนั้นจึงเทเชื้อที่คลุกรำข้าวแล้วผสมกับรำข้าวที่เหลือให้ครบตามจำนวน แล้วคลุกให้เข้ากันอีกครั้ง
- นำหัวเชื้อสดที่ผสมกับรำข้าว(อัตราส่วน 1:4โดยน้ำหนัก) ผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก100กิโลกรัม คลุกเคล้าจนเข้ากันอย่างทั่วถึง อาจพรมน้ำพอชื้นเพื่อลดการฟุ้งกระจาย
เมื่อได้ส่วนผสมของเชื้อสดกับปุ๋ยอินทรีย์แล้วสามารถนำไปใช้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การผสมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าในกระบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด ผสมดินปลูกอัตรา 1:4 โดยปริมาตร(20%)นำดินปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุง หรือกระถางปลูก
2. การใส่หลุมปลูกพืช
- ใช้ส่วนผสมของเชื้อสด อัตรา 10-20กรัม(1-2ช้อนแกง) ต่อหลุม โรยในหลุมก่อนการหยอดเมล็ดพืช
- ใช้ส่วนผสมของเชื้อสดอัตรา10-20กรัมคลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ถ้าหลุมใหญ่อาจใช้50-100กรัม/หลุม
3. การใช้เชื้อหว่านในแปลงปลูก
หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูกก่อนการปลูกพืช 1 สัปดาห์ ด้วยอัตรา 50-100กรัมต่อตารางเมตร หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูก ขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต และกำลังมีโรคระบาด ด้วยอัตรา 50-100ต่อตารางเมตร หรือคราดเศษวัชพืชมากองรอบๆ ชายพุ่ม ถ้าดินแห้งให้รดน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นแต่อย่าให้แฉะ โรยส่วนผสมรอบทรงพุ่มในอัตราส่วน 3-5 กก. ต่อต้นหรือโรยให้ทั่วรอบๆลำต้น คลุมด้วยใบไม้แห้ง ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน เชื้อราจะเจริญเป็นเส้นใยสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวภายใน 5-7 วัน
4. การใช้เชื้อหว่านใต้ทรงพุ่มหรือโรยโคนต้นพืช
หว่านส่วนผสมเชื้อสดทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่มอัตรา 50-100กรัมต่อตารางเมตร หรือโรยส่วนผสมเชื้อสด บริเวณโคนต้นพืชกรณีที่เกิดโรคโคนเน่า ด้วยอัตรา10-20กรัมต่อต้น
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดคลุกเมล็ดพืช
ใส่เชื้อสดลงในถุงพลาสติกที่จะใช้คลุกเมล็ดอัตรา 10 กรัม (1ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี บีบเชื้อสดให้แตกตัวเทเมล็ด 1 กิโลกรัมลงในถุงแล้วเขย่าให้เชื้อสดคลุกเคล้าจนติดผิวเมล็ด นำเมล็ดออกผึ่งลมให้แห้งหรือใช้ปลูกได้ทันที
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับน้ำ
ในกรณีที่ไม่สะดวกในการจัดหาปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และรำข้าวหรือกรณีที่ต้องการใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงดินโดยไม่ประสงค์จะใส่ ปุ๋ยอินทรีย์และรำข้าวลงไปในดินด้วย เนื่องจากไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำ ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ 250 กรัม(เชื้อสด 1 ถุง)ต่อน้ำ 50ลิตรใช้น้ำเชื้อที่เตรียมได้ฉีดพ่นลงดินด้วยอัตรา 10-20 ลิตรต่อ100 ตารางเมตรสำหรับขั้นตอนการใช้เชื้อสดผสมน้ำมีดังนี้
• นำเชื้อสดมา 1 ถุง(250กรัม) เติมน้ำลงไปในถุง 300มิลลิลิตร(ซีซี)หรือพอท่วมตัวเชื้อแล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกจนได้น้ำ เชื้อสีเขียวเข้ม
• กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ ล้างกากที่เหลือบนกระชอนด้วยน้ำอีกจำนวนหนึ่งจนเชื้อหลุดจากเมล็ดข้าวหมด เติมน้ำให้ครบ 50 ลิตร ก่อนนำไปใช้
1. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในกระบะเพาะกล้า กระถาง หรือถุงปลูกพืช
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนกระบะเพาะหลังจาดหยอดเมล็ดแล้วหรือในระหว่างที่ต้นกล้ากำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในถุงหรือกระถางปลูกพืช ตั้งแต่เริ่มปลูกหรือในระหว่างที่พืชกำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม
2. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืช
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังจากเพาะเมล็ดแล้ว โดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชื้น
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังย้ายพืชลงปลูกแล้ว โดยฉีดให้ดินเปียกชื้น
3. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูกพืช
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงพืชหลังจากหว่านเมล็ด และคลุมแปลงด้วยฟางแล้วในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร และให้น้ำแก่พืชทันที
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูก อัตรา 10-20 ลิตร/100ตารางเมตร ก่อนคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ
• กรณีที่พืชกำลังเจริญเติบโตอยู่ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลง ในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
4. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดโคนต้นพืชและใต้ทรงพุ่ม
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงตรงโคนต้นพืช และบนดินบริเวณรอบโคนต้นพืช โดยให้ผิวดินเปียกชื้น
• ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนดิน ใต้บริเวณใต้ทรงพุ่มและขอบชายพุ่ม ให้ดินพอเปียกชื้น
5. แช่เมล็ดข้าวก่อนหว่าน เชื้อรา 1 ถุง สามารถนำไปแช่เมล็ดข้าวได้ 10 ถัง โดยนำเชื้อราไปขยี้กับน้ำผสมลงไปในน้ำแช่ข้าว แช่ไว้ 1 คืน แบ่งข้าวใส่กระสอบปิดปากถุง เอาไว้อีก 1 คืน สามารถนำไปหว่านได้
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในรูปของสปอร์หรือผงแห้ง
1. อัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 1 มิลลิลิตร คลุกเคล้าขณะเตรียมดินปลูกหรือรองก้นหลุมก่อน ปลูกโดยพืชต้นเล็ก ใช้ 50 - 100 กรัม ต่อต้น หรือในไม้ผล ใช้ 3-5 ก.ก. ต่อต้น
2. ใช้ไตรโคเดอร์มาชนิดผงคลุกเมล็ดอัตรา 10-20 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เติมน้ำหรือสารจับติด (Sticker) ลงไปเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผงเชื้อจับติดเมล็ดได้ดีขึ้นและนำไปปลูกทันที
ข้อจำกัดและข้อควรระวังการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด เป็นวิธีการที่เกษตรกรหรือผู้ใช้ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพราะเชื้อชนิดสดอาจไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวด เร็ว เชื้อสดเป็นเชื้อที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่ออยู่ในสภาพอุณหภูมิปกติ โดยสปอร์ของเชื้อซึ่งมีสีเขียวเข้มจะงอกและเจริญกลับเป็นเส้นใยสีขาวใหม่อีก ครั้ง เส้นใยดังกล่าวจะอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมภายนอกถุงเชื้อ สูญเสียคุณภาพและประสิทธิภาพได้ง่ายกว่าเชื้อในรูปสปอร์สีเขียว ดังนั้น ข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งของเชื้อสดคือ ต้องนำเชื้อสดไปใช้ทันที อย่างไรก็ตาม ถ้าเกษตรกร หรือผู้ใช้ยังไม่พร้อมที่จะใช้เชื้อสดที่มีอายุครบ 7 วันแล้ว ต้องเก็บรักษาเชื้อสดไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส และไม่ควรเก็บไว้นานเกินกว่า 15 วัน
นอกจากนี้ ผู้ใช้เชื้อสดควรระลึกไว้เสมอว่า การใช้เชื้อสดใส่ลงไปในดินที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญและการ เพิ่มปริมาณเชื้อ เช่น ดินเป็นกรดจัดหรือด่างจัด เกินไป ดินมีความเค็มสูง โครงสร้างของดินหรือเนื้อดินมีลักษณะแน่นทึบ การระบายอากาศและความชื้นไม่ดี ดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำ อาจทำให้การใช้เชื้อสดไม่ประสบผลสำเร็จได้ สำหรับข้อควรระวังต่าง ๆ ในการใช้เชื้อสดนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นมีดังนี้
1. ควรฉีดพ่นน้ำเชื้อสดในเวลาแดดอ่อน หรือเวลาเย็น กรณีที่บริเวณซึ่งจะฉีดพ่นไม่มีร่มเงาจากพืชเลย ควรใช้วัสดุอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกหว่านปกคลุมผิวดิน
2. ไม่ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ในบริเวณที่แฉะ แต่ถ้าดินบริเวณที่จะฉีดพ่นเชื้อแห้งมาก ควรให้น้ำพอให้ดินมีความชื้นเสียก่อน หรือให้น้ำทันทีหลังฉีดพ่น เพื่อให้น้ำพอเชื้อซึมลงดิน
3. ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่เหมาะกับการใช้ผสมเชื้อราไตร โคเดอร์มาชนิดสด ควรเป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการหมักโดยสมบูรณ์แล้ว ( เย็นแล้ว ) หรือเป็นปุ๋ยที่กองทิ้งไว้จนเก่าแล้ว ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย
4. ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิดคลุกเคล้าหรือผสมร่วมกับเชื้อสดเพื่อใช้พร้อมกันทีเดียว
5. กรณีที่ต้องการผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับปุ๋ยอินทรีย์-เคมี ( ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผสมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ) ทั้งชนิดผงหรือชนิดอัดเม็ด ให้ผสมได้ แต่ต้องหว่านทันทีที่ผสมเสร็จ ห้ามผสมแล้วเก็บไว้ในกระสอบ หรือกองไว้ เพราะเชื้อราไตรโคเดอร์มาอาจได้รับอันตรายจากปุ๋ยเคมี
6. เมื่อผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับรำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ให้ใช้หว่านทันที ห้ามบรรจุลงในกระสอบหรือกองทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดความร้อนในกองปุ๋ย เป็นอันตรายต่อเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้ ดังนั้นจึงควรเตรียมส่วนผสมของเชื้อสด รำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์ให้พอใช้ในแต่ละครั้ง
7. ถ้าผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับปุ๋ยอินทรีย์ ( เก่าหรือหมักดีแล้ว ) โดยไม่ใส่รำข้าว สามารถเก็บปุ๋ยไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน โดยใส่กระสอบหรือกองไว้ในที่ร่มและเย็น และควรคลุมด้วยพลาสติกหรือกระสอบ เพื่อรักษาความชื้นในเนื้อปุ๋ยเอาไว้ให้อยู่ที่ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์
8. เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่ใส่รำข้าว เมื่อใช้หว่านลงดินจะได้ปริมาณเชื้อน้อยกว่ากรณีที่ใช้รำข้าวผสมด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่าเชื้อสดผสมปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่มีรำข้าวมีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้เช่น กัน
9. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ก่อนหรือหลังการหว่านปุ๋ยเคมี 3-5 วัน
10. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหลังหว่านปูนโดโลไมท์ ปูนขาว หรือสารปรับสภาพดินไปแล้ว 5-7 วัน
11. pH ของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไตรโคเดอร์มา อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 คือเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งเป็นช่วง pH ที่พืชปลูกส่วนใหญ่ เจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการวัด pH ของดิน และปรับให้เหมาะสมก่อน
12. เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราชั้น สูง จึงถูกทำลายได้ด้วยสารเคมีที่ใช้ในการป้องกัน และกำจัดเชื้อราชั้นสูงโดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่มเบนซิมิดาโซล (benzimidazole) ได้แก่ เบนโนมิล (benomyl) และคาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีชนิดดูดซึม หากจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมี ควรจะทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์เป็น อย่างต่ำ
13. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อ เนื่อง เช่น ใช้ก่อนปลูกพืชรุ่นใหม่ทุกครั้ง ในกรณีของการปลูกพืช ผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชไร่ หรือใช้อย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ต้นฝน และปลายฝน ห่างกัน 6 เดือน ในกรณีของไม้ผลยืนต้น (ใช้บ่อย ๆ ไม่มีอันตรายต่อพืช) ถ้าอาหาร สภาพแวดล้อม และปัจจัย อื่น ๆ ในดินไม่เหมาะสม เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะหยุดการเจริญเติบโต หรือเมื่อเชื้อโรคลดปริมาณลง เชื้อไตรโครเดอร์ม่าที่จะลดปริมาณลงตามไปด้วย จนอยู่ในสภาพสมดุลของธรรมชาติ หากดินมีความชื้นและอินทรียวัตถุอย่างพอเพียง ไตรโครเดอร์ม่าก็จะยังคงมีชีวิตอยู่ในดินได้ต่อไป แต่หากดินขาดอาหารและความชื้นเมื่อใด เชื้อก็จะตายลงในที่สุด
14. ควรใช้เศษหญ้า เศษใบไม้ หรือวัสดุต่าง ๆ คลุมผิวดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินไว้ ซึ่งจะช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญได้ดี และมีชีวิตอยู่รอดในดินได้นานยิ่งขึ้น
15. ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือวัสดุอินทรีย์ลงดินเป็นระยะ ๆ โดยแบ่งใส่ทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับเชื้อราไตรโคเดอร์มา และเพื่อช่วยปรับสภาพแวดล้อมในดินให้เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
16. ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่ผสมรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์หว่านลง ดินในช่วงของการเตรียมดินก่อนการปลูกพืช และใช้น้ำเชื้อสดฉีดพ่นลงดินบนแปลงปลูกหรือรอบโคนต้น หรือใต้ทรงพุ่มในระยะที่พืชกำลังเจริญเติบโตต่อเนื่องเป็นระยะๆ
17. เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดเก็บรักษาได้ไม่นาน และมีประสิทธิภาพควบคุมโรคสูงกว่าการใช้เชื้อในรูปผงแห้ง
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา
1. ปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินมีหน่วยวัดเป็น หน่วยโคโลนี / กรัม เช่น ตรวจพบเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดิน 105 หน่วยโคโลนี / กรัม หมายความว่าในดิน หนัก 1 กรัม มีปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาอยู่ 100,000 หน่วยชีวิต ( สปอร์ ) ที่จะเจริญเป็นเส้นใยได้
2. เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ใส่ลงดินแล้ว จะมีชีวิตอยู่รอดได้นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ดินร่วนซุยดี มีอินทรีย์วัตถุสูง มีใบไม้/เศษพืชปกคลุมดินเสมอ เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะอยู่รอดโดยมีปริมาณสูงได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี
3. เชื้อราไตรโคเดอร์มาอยู่ได้ในดินลึกกว่า 30 เซนติเมตรจากผิวดิน แต่จะเจริญสร้างเส้นใยเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคพืชได้ดีในความลึกช่วง 5 - 10 เซนติเมตร จากผิวดิน
4. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาติดต่อกันนานหลายปีไม่ทำให้เชื้อโรคพืชเกิดความ ต้านทานได้ แต่กลับเป็นผลดี คือ จะช่วยป้องกันโรคพืชได้อย่างต่อเนื่อง
5. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพียง 1 สายพันธุ์ไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหลายสายพันธุ์ร่วมกัน
6. เชื้อราไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชที่ปลูก และสภาพแวดล้อม
7. การต่อเชื้อไตรโคเดอร์มาบ่อย ๆ อาจเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่เจริญได้ไม่ดี สร้างเส้นใยแต่ไม่สร้างสปอร์สีเขียว และไม่มีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้
8. กรณีที่พืชแสดงอาการของโรคขั้นรุนแรง ควรใช้สารเคมี เช่น เมทาแลกซิล โฟซีทิลอัล ( อาลีเอท ) กรดฟอสโฟนิค ( โฟลีอาร์ฟอส ) แมนโคเซบฯ ร่วมด้วยได้ ถ้าจะใช้สารกลุ่มเบโนมิล หรือคาร์เบนดาซิมควรใช้ก่อนหรือหลังใส่เชื้อไตรโคเดอร์มา 7 วัน
9. สามารถใช้สารเคมีควบคุมแมลงศัตรูพืช สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมี ได้ตามปกติในระหว่างการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา แต่ห้ามผสมเชื้อกับสารเคมี
10. ถ้าดินปลูกพืชเป็นกรดจัด คือ ค่าพีเอชต่ำ ( 3.5-4.5 ) จำเป็นต้องปรับค่าพีเอสให้มีค่าอยู่ระหว่าง 5.5 - 6.5 ก่อนการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
11. เชื้อราไตรโคเดอร์มาพบได้ในดินเกษตรกรรมทั้งไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกเชื้อหรือทุกสายพันธุ์นั้นจะมีประสิทธิภาพในการควบ คุมโรคได้ ต้องผ่านการวิจัยทดสอบเสียก่อน
แหล่งเชื้อพันธุ์
1. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดเชียงใหม่
2. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดชัยนาท
3. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดชลบุรี
4. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดนครราชสีมา
5. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดพิษณุโลก
6. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดขอนแก่น
7. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี
8. ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดสงขลา
9. ชมรมส่งเสริมความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร 68/97 ม.5 ซ.นนทบุรี 42 ถนนสนามบินน้ำ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร. 02-580-6356
10. ห้องปฏิบัติการ ควบคุมโรคพืชโดยชีวภาพ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140 โทรศัพท์ 034-281047 หรือ 02-9428200-45 ต่อ 3413, 3406 หรือ 3405
ที่มา
1. http://hcsupply.blogspot.com/2008/09/blog-post_17.html
2. http://gotoknow.org/blog/thaikm/500
3. http://bbznet.pukpik.com/scripts2/view.php?user=kasetshow&board=2&id=100&c=1&order=numreply
4. http://www.geocities.com/psplant/work01index.htm
5. http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=696&s=tblrice
6. http://gotoknow.org/blog/nonghin/239346
7. http://www.weloveshopping.com/template/a13/show_article.php?shopid=127087&qid=46540
8. http://siweb.dss.go.th/qa/search/search_description.asp?QA_ID=303
9. http://it.doa.go.th/durian/detail.php?id=171&PHPSESSID=8d10e14145fef553520b764615aca684
10. http://www.phtnet.org/news/view-news.asp?nID=177
11. รูปภาพ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pum-karb&date=12-07-2009&group=7&gblog=13
12. http://www.rdi.ku.ac.th/kufair50/plant/68_plant/68_plant.html
13. http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2008/08/J6861266/J6861266.html

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

การถวาย "สังฆทาน" ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

เมื่อถึงวันเกิด หลายคนคงนึกอยากทำบุญ ซึ่งปกติอาจไม่ได้มีโอกาสทำบ่อยนัก การถวายสังฆทานคงเป็นอันดับต้นๆที่จะนึกถึงในการทำบุญวันเกิด เพราะเชื่อและได้ยินเขาว่ากันว่าเป็นการทำบุญที่ได้บุญมาก หลายคนอาจเลือกซื้อของที่อยากถวายเองเป็นถุงๆ หรือจะจัดใส่ภาชนะ เช่น ถัง ขัน กระติกน้ำ ก็ได้ หรือบางคนอาจต้องการความสะดวกสบาย จึงซื้อถังสีเหลืองที่บรรจุอาหารกระป๋อง ผ้า ของใช้ต่างๆ ที่วางขายตามร้านค้าต่างๆ แล้วก็นำไปถวายพระ โดยการกล่าวคำถวาย เสร็จแล้วพระก็ให้พร ก็เป็นอันเสร็จพิธี แล้วเข้าใจว่าอย่างนี้ คือ การถวายสังฆทาน

ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำเช่นนั้นอาจจะสำเร็จเป็น “สังฆทาน”ที่สมบูรณ์หรือไม่ก็ได้ เพราะคำว่า “สังฆทาน” ไม่ได้หมายถึง วัตถุที่นำไปถวาย หรือ “วัตถุทาน”เช่น ถังสีเหลืองที่บรรจุข้าวของ แต่หมายถึง การให้วัตถุทานแก่สงฆ์ เนื่องจากตามพระธรรมวินัย คำว่า “ภิกษุ” หมายถึง “ภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง” คำว่า “สงฆ์” หมายถึง “ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป” คำว่า “ทาน” แปลว่า “การให้” หมายถึง การตั้งใจให้ ซึ่งการให้ทานนั้นมีหลายประเภท ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลายประเภทนั้น ได้แก่ สังฆทาน

พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่าการถวายสังฆทาน เป็นทานที่มีอานิสงส์สูงที่สุด สูงกว่าแม้การถวายทานแด่พระพุทธเจ้าเอง เพราะการถวายสังฆทาน เป็นการให้ทานแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็นของกลางแก่วัด หรือเป็นของส่วนรวม ไม่ได้เจาะจงผู้รับ และไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยคณะสงฆ์ในวัดจะประชุมพิจารณาเพื่อตกลงกันว่า จะนำวัตถุทานที่ได้รับถวายมาไปใช้ในกิจการใด หรือ จะมอบให้แก่ภิกษุรูปใด ดังนั้นการถวายสังฆทานจึงเป็นการบำรุงรักษาวัดและภิกษุสงฆ์ให้มั่นคงสืบพระศาสนาต่อไปได้ พุทธศาสนิกชนจึงเชื่อว่า การถวายสังฆทานได้บุญมาก และนิยมกระทำกัน แต่มักจะขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้เขียนเคยเห็นและสังเกต พบว่าการถวายสังฆทานของคนส่วนใหญ่นั้น มักไม่สำเร็จเป็นสังฆทาน แต่กลายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือ เป็นทานที่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปที่รับถวายเท่านั้น เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทุกคนควรที่จะศึกษาให้รู้และเข้าใจให้ถูกต้อง

การถวายทานให้สำเร็จเป็น”สังฆทาน”นั้น ผู้ถวายจะต้องระบุว่าถวายเป็นสังฆทาน ภิกษุผู้รับถวายจะต้องมีไม่น้อยกว่า 4 รูป และเมื่อรับถวายแล้ว ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องทำการอปโลกน์ก่อน คือ ประกาศว่าเป็นของกลาง ใครต้องการจะใช้สามารถนำไปใช้ได้ แล้วจึงจะแจกจ่ายวัตถุทานที่ได้รับมาให้แก่ภิกษุสามเณรที่ต้องการได้ ถ้าครบกระบวนการทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ จึงจะเป็น”สังฆทาน”ที่สมบูรณ์ ทั้งด้านผู้ถวายและผู้รับถวาย ซึ่งจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไปดังนี้

1.ผู้ถวายสังฆทาน
ผู้ที่จะถวายสังฆทาน ควรทำใจให้สบายก่อนการถวาย มีความพอใจและเต็มใจที่จะถวาย ส่วนวัตถุทานที่จะถวายเป็นสังฆทานนั้น ควรเป็นของที่จำเป็นและสมควรแก่สมณเพศ เช่น อาหารสด อาหารแห้ง จีวร ยา หนังสือ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น และควรงดเว้นวัตถุที่ไม่สมควรแก่สมณเพศ เช่น อาวุธ ยาพิษ สุรา ยาเสพติด รูปภาพหรือวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกามารมณ์ เป็นต้น วัตถุทานนี้จะซื้อหามาจัดเอง หรือจะซื้อที่เขาจัดสำเร็จแล้ววางขายก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การถวายนั้น จะต้องบอกว่าถวายเป็นสังฆทานให้ชัดเจน เพราะถ้าไม่บอกให้ชัดเจน จะกลายเป็นทานที่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปที่เราถวายเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะบอกด้วยวาจาแก่ภิกษุที่เราถวายว่า ต้องการถวายของนี้เป็นของกลางแด่สงฆ์ก็ได้ หรือ จะกล่าวคำถวายสังฆทานอย่างที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณก็ได้ โดยในคำถวายนั้น จะต้องมีปรากฏคำว่า “สังฆัสสะ” และ “สังโฆ” อยู่ด้วย เพื่อให้ทราบว่าทานที่ถวายนี้เป็นการถวายเป็นสังฆทาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

อิมานิ มะยัง ภันเต, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมานิ, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ภัตตาหาร, พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระสงฆ์, ขอพระสงฆ์จงรับ, ภัตตาหาร, พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์,และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ

เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว ผู้ถวายก็นำวัตถุทานของตนเข้าไปถวาย โดยจะยกประเคน หรือเพียงวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์พอให้รู้ว่าได้ถวายก็ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ถวายควรพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะถ้าวัตถุทานนั้นเป็นของใช้หรือยา สามารถจะประเคนพระภิกษุได้ตลอดเวลา ไม่มีการหมดอายุของวัตถุทานนั้น แต่หากเป็นประเภทของเคี้ยวของฉัน ซึ่งจะต้องผ่านเข้าไปทางปากนั้น จะมีอายุจำกัดตามประเภทของวัตถุ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1) ยาวกาลิก คือ อาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น อาหารสด อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง นม โอวัลติน หากพระภิกษุท่านรับบาตรมาหรือรับประเคนด้วยมือแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียงเที่ยงของวันนั้น อาหารนั้นจะหมดอายุและไม่สามารถนำกลับมาฉันในวันต่อไปได้ หรือ หากรับประเคนหลังเที่ยง ก็จะหมดอายุทันทีที่รับประเคนนั้น ต้องสละให้สามเณรหรือเด็กวัดหรือญาติโยมไปบริโภคกัน

2) ยามกาลิก คือ น้ำผลไม้ที่ผ่านการกรองจนไม่มีเนื้อปนอยู่ และไม่ผ่านการตั้งไฟ (มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นอาหาร) โดยผลไม้ที่นำมาคั้นน้ำนั้น จะต้องมีขนาดไม่ใหญ่กว่าผลมะตูม (ประมาณเท่ากำปั้น) เมื่อพระรับประเคนแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียง 24 ชั่วโมง ก็จะหมดอายุ ส่วนที่เหลือจะต้องสละไป

3) สัตตาหกาลิก คือ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น (รวมถึง น้ำหวาน น้ำอัดลมด้วย แต่ไม่รวมนมข้นหวาน นมกล่อง) เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียง 7 วัน ก็จะหมดอายุ ส่วนที่เหลือต้องสละไป

4) ยาวชีวิก คือ ยารักษาโรค เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้ว สามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอดไปจนกว่าจะหมด

เพราะฉะนั้นหากในวัตถุทานที่จะถวายนั้น มีของเคี้ยวของฉัน 3 ประเภทแรกปนอยู่ ถ้าเรายกประเคนหมดทั้งถังหรือถาด อาจจะทำให้ของฉันนั้นหมดอายุก่อนที่พระท่านจะนำไปฉันหมดได้ หากต้องการให้ท่านเก็บไว้ฉันได้นานๆจนกว่าจะหมด ก็ควรแยกออกจากถังหรือถาด วางไว้โดยไม่ต้องยกประเคน แล้วเอาส่วนที่เหลือที่เป็นของใช้ยกประเคนท่าน พวกอาหารที่เราแยกออกวางไว้นั้น พระท่านจะให้เณรหรือโยมประเคนให้ในภายหลัง เมื่อท่านต้องการจะฉัน การทำอย่างนี้จะทำให้วัตถุทานที่ถวายเป็นประโยชน์กับพระท่านได้อย่างเต็มที่ และยังถูกต้องตามพระวินัยด้วย

2. ภิกษุสงฆ์ผู้รับถวายสังฆทาน
เนื่องจากสังฆทานเป็นทานที่ถวายแด่ “สงฆ์” คือ ภิกษุตั้งแต่ 4 รูป ขึ้นไป เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ถวายปรารถนาจะให้สำเร็จเป็นสังฆทานแท้จริง และไม่ทำให้ภิกษุท่านยุ่งยากภายหลัง ก็ควรถวายต่อหน้าภิกษุ 4 รูปขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นถวายที่วัดหรือที่บ้านก็ตาม ตามพระวินัย เมื่อสงฆ์รับการถวายสังฆทานแล้ว จะต้องให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ไม่ใช่ประธานสงฆ์ในที่นั้น กล่าวคำ “อปโลกน์” เป็นภาษาบาลีว่า

ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ, อะยัง ปะฐะมะภาโค เถรัสสะ ปาปุณาติ, อะวะเสสา ภาคา อัมหากัง ปาปุณันตุ, ภิกขุ จะ สามะเณรา จะ คะหัฏฐา จะ ยะถา สุขัง ปะริภุญชันตุ

ซึ่งเป็นการประกาศต่อที่ประชุมสงฆ์ เพื่อตกลงกันว่าจะแจกของนั้นกันอย่างไร ตามพระวินัย หากยังไม่ได้ทำการอปโลกน์ก่อนที่จะนำของที่ถวายมาเป็นของสงฆ์นั้นไปใช้แล้ว จะต้องอาบัติ คือ มีความผิด เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระผู้ที่ท่านรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ท่านจะให้ความสำคัญและระมัดระวังมาก เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปกราบนมัสการและถวายสังฆทานแด่หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ณ วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร เมื่อหลวงปู่ท่านรับประเคนแล้ว ท่านให้พระภิกษุที่เฝ้าอุปัฏฐากท่านกล่าวคำอปโลกน์ทันที แล้วแจกจ่ายของนั้นแก่ภิกษุสามเณรที่ต้องการใช้ต่อไป หรืออย่างหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ แห่งวัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร ศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็ได้ทราบว่าท่านจะไม่ยอมฉันยอมใช้ของที่ถวายแด่สงฆ์ ซึ่งยังไม่ผ่านการอปโลกน์เลย

สิ่งที่ควรตระหนักเกี่ยวกับสังฆทาน
1. ถ้ามีภิกษุผู้รับถวายสังฆทานไม่ถึง 4 รูป เช่น มีเพียงรูปเดียว ก็สามารถถวายสังฆทานได้เช่นกัน แต่ภิกษุผู้รับถวายนั้นจะต้องทำหน้าที่เหมือนตัวแทนสงฆ์รับถวายสังฆทาน เมื่อรับถวายแล้วจะต้องนำวัตถุทานนั้นไปกล่าวอปโลกน์ในที่ประชุมสงฆ์ที่วัดอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปใช้ จึงจะทำให้ทานนั้นสำเร็จสมบูรณ์เป็นสังฆทานได้ ถ้าภิกษุท่านรับถวายแล้ว ไม่ได้นำไปอปโลกน์ในที่ประชุมสงฆ์ ก็จะไม่เป็นสังฆทาน แต่กลายเป็นทานที่ถวายเฉพาะบุคคลไป แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่า ในส่วนของตัวผู้ถวายนั้น ได้บุญตั้งแต่ตอนที่ตั้งใจถวายทานเพื่อเป็นสังฆทานแล้ว ไม่ควรไปกังวลว่าพระท่านรับแล้วจะนำไปอปโลกน์หรือไม่ เพราะถ้าท่านไม่อปโลกน์แล้วนำไปใช้ ท่านจะต้องอาบัติ และเป็นบาปเป็นโทษแก่ท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของผู้ถวาย เหตุฉะนั้น ถ้าท่านพุทธศาสนิกชนไม่ปรารถนาจะให้ภิกษุท่านยุ่งยาก หรือต้องการจะให้เป็นสังฆทานที่แท้จริง ก็ควรถวายต่อหน้าภิกษุไม่น้อยกว่า 4 รูป ก็จะเป็นการดียิ่ง และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักษาพระธรรมวินัยและพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงด้วย

2. ในงานพิธีทำบุญในที่ต่างๆ โดยเฉพาะเป็นงานที่นิมนต์พระจากหลายวัด ถ้าจะมีการถวายทานเป็นสังฆทาน โดยในคำถวายปรากฏคำว่า “สังฆัสสะ” และ “สังโฆ” อยู่ ภิกษุที่อยู่ในงานนั้น ควรทำการอปโลกน์ทันทีที่ได้รับประเคนของเสร็จ ผู้เขียนเองเคยสังเกตพิธีทำบุญถวายภัตตาหารและสังฆทาน ที่นิมนต์เฉพาะพระวัดป่าสายท่านพระอาจารย์มั่นโดยเฉพาะ พบว่าเมื่อท่านได้รับประเคนสังฆทานในพิธีทำบุญนั้น ท่านจะกล่าวอปโลกน์ทันที เพื่อที่จะสามารถแจกอาหารที่เหลือให้ญาติโยมรับประทาน และนำเครื่องไทยทานต่างๆ แยกย้ายกลับไปตามวัดต่างๆได้โดยไม่ผิดพระวินัย แต่ในบางงานพบว่า ผู้นำกล่าวคำถวายทานเป็นผู้ฉลาด ไม่ปรารถนาจะให้พระท่านยุ่งยากในการอปโลกน์ และป้องกันบาปที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา จากการรับประทานอาหารซึ่งเป็นของสงฆ์และยังไม่ผ่านการอปโลกน์ จึงไม่กล่าวคำถวายทานเป็นการถวายสังฆทาน แต่ถวายเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อภิกษุ โดยเปลี่ยนคำว่า “สังฆัสสะ” เป็น “สีละวันตัสสะ” และจาก “สังโฆ” เป็น “สีละวันโต” และเปลี่ยนคำแปลจากคำว่า “พระสงฆ์” เป็น “ท่านผู้ทรงศีล” แทน

3. ถ้ามีการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานในเวลาระหว่างเช้าถึงเที่ยง ไม่ว่าจะเป็นที่วัดหรือที่บ้าน เมื่อพระท่านฉันอาหารแล้วมีอาหารเหลืออยู่ ญาติโยมจะนำไปรับประทานโดยพลการไม่ได้ จะต้องขออนุญาตจากพระสงฆ์ก่อนทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเกิดโทษเป็นบาปได้ เพราะอาหารนั้นเป็นของสงฆ์จนถึงเวลาเที่ยง แต่ถ้าเลยเที่ยงแล้ว ถึงสงฆ์จะยังไม่อนุญาตก็บริโภคได้โดยไม่เป็นบาป เพราะอาหารนั้นหมดอายุ ขาดจากความเป็นของสงฆ์แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตก่อน ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม

4. ของที่ได้ถวายเป็นของสงฆ์แล้ว ภิกษุจะนำไปขายหรือให้แก่ฆราวาสไม่ได้ จะเป็นบาปทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ เพราะของนั้นไม่ใช่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เป็นสมบัติกลางของวัด แม้ฆราวาสเองก็เช่นกัน จะเอาของที่คนเขาถวายเป็นของกลางแก่สงฆ์มาเป็นสมบัติของตนไม่ได้ ไม่ว่าจะซื้อมา ขอมา ขโมยมา หรือพระท่านให้ก็ตาม จะเป็นบาปอย่างมาก ตามที่มีตัวอย่างปรากฏในพระสูตร ท่านกล่าวว่า ภิกษุหรือฆราวาสที่นำของสงฆ์ไปเป็นของตน เมื่อตายไปจะกลายเป็นเปรต ได้รับทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานานกว่าจะสิ้นกรรมนั้น ฉะนั้น ท่านที่ได้กระทำดังที่กล่าว และทราบแล้วว่าเป็นบาป ควรคืนของสิ่งนั้นแก่วัดทันที ถ้าของนั้นชำรุดหรือสูญหาย ก็ควรจะซื้อหามาถวายคืนแก่วัด อย่าได้คิดเสียดาย เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ก็ควรรีบทำ เพราะถ้าตายเสียก่อน จะหมดโอกาสแก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง

หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจถึงวิธีการถวายสังฆทานให้เป็น”สังฆทาน”ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว และขอได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้แด่พุทธศาสนิกชนคนอื่นๆด้วย เพื่อให้ทุกคนได้ช่วยกันรักษาพระสงฆ์และพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่นับถือ “พุทธศาสนา”อย่างแท้จริง

คัดจาก http://www.walk2gether.net/forum/index.php?topic=2853.0

ปูมเจ้าเมืองถลางและเจ้าเมืองภูเก็จ

"1.ออกญาสุรินทราชา (เรอเน่ ชาร์บอนโน) พ.ศ.2224-2228
เป็นชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างป้อมปราการด้วยไม้เนื้อแข็งรอบตัวเมืองถลาง(บ้านดอน) มีหอคอยสูงสี่ด้านและเป็นป้อมค่ายที่ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ใช้ต่อสู้พม่าจนได้รับชัยชนะใน พ.ศ. 2228 ท่าขอกลับไปอยู่สถานฑูตที่กรุงศรีอยุธยา"
"2.พระยาสุรินทราชา (ซัวร์ เดอ บิลลี่) หรือจอมสุรินทร์บ้านลิพอน พ.ศ.2228-2231
เป็นชาวฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งแทนเจ้าเมืองคนก่อน พระยาสุรินทราชาท่านนี้ถูกปลดและเอาตัวไปลงโทษประหารชีวิต โทษฐานกบฏด้วยการให้ความช่วยเหลือนายพลเดซฟาสตร์ แม่ทัพฝรั่งเศสมายึดเมืองถลาง"
"3.พระยาถลางคางเซ้ง(คางเสง) พ.ศ.2231-2260
เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน สมเด็จพระเพทราชาทรงแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าเมืองถลาง มีจวนเจ้าเมืองอยู่บริเวณวัดพระทองปัจจุบันนี้ ท่านผู้นี้มีทายาทสืบสายเจ้าเมืองนานถึง 31 ปี"
"4.จอมเฒ่า(จอมทองคำ) พ.ศ.2261-2305
เป็นชาวเมืองถลางเชื้อสายนครศรีธรรมราช ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้านครศรีธรรมราชให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอน เป็นพี่ชายต่างมารดาของจอมร้างผ฿ครองเมืองบ้านตะเคียนและเป็นบิดาของพระยาถลางทองพูน"
"5.จอมร้าง พ.ศ.2261-2309
เป็นชาวเมืองถลางเชื้อสายนครศรีธรรมราช ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้านครศรีธรรมราชให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านตะเคียน เป็นบิดาของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร"
"6.พระยาถลางอาด(คุณอาด) พ.ศ.2309-2310
บุตรชายจอมร้าง น้องชายท้าวเทพกระษัตรี ได้รับการแต่งตั้งจากพระยานครศรีธรรมราช(หนู) ให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ต่อมาแม่ทัพเรือไทรบุรียึดเมืองถลาง ฆ่าพระอาดเจ้าเมืองถลาง"
"7.พระยาบกบัตรชู(พระยาถลางชู) พ.ศ.2310-2314
ยกบัตรชูเป็นชาวถลางโดยกำเนิด ได้ร่วมกับท้าวเทพกระษัตรี ม้าวศรีสุนทร เป็นผู้นำชาวบ้านส้องสุมผู้คนปล้นเอาเมืองคืนจากแม่ทัพเรือไทรบุรี เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง"
"8.เจ้าพระยาอินทวงศา อัครเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง พ.ศ.2319-2327
เมื่อเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการยกฐานะเป็นประเทศราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาอินทวงศา อัครเสนาบดี บุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ ออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2327 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ให้เกาะกุมตัวเจ้าพระยาอินทวงศา เข้ากรุงฐานกระด้างกระเดื่องต่อพระมหากษัตริย์ใหม่ ท่านจึงทำอัตนิวิบาตกรรมที่ค่ายปากพระ"
"9.พระยาพิมลอัยา(ขัน) พ.ศ.2314-2327
เดิมเป็นเจ้าเมืองพัทลุง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้ออกมาเป็นข้าหลวงพิเศษ ดูแลการค้าขายแร่ดีบุกที่เมืองถลาง และได้สมรสกับท้าวเทพกระษัตรี มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือแม่ทอง และคุรเนียม อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.2327"
"10.เจ้าพระยาฦาราชนิกูล ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง พ.ศ.2327-2330
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำรงตำแหน่งพระยาธัมไตรโลก แม่ทัพฝ่ายเหนือ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าให้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตก รบแพ้พม่า หนีจากค่ายปากพระไปสงขลา พ.ศ.2330 ต้องโทษฐานฉ้อโกงเงินค่าดีบุก"
"11.พระยาทุกราช(ทองพูน) หรือพระยาถลางเจียดทอง พ.ศ.2327-2332
เป็นบุตรจอมเฒ่าบ้านดอน ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพระยาฦาราชนิกูล ในฐานะข้าหลวงใหญ่หัวเมืองฝ่ายตะวันตก ให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองถลาง ต่อมามีราชทินนามว่าพระยาณรงค์เรืองฤทธิศรีสิทธิสงคราม อันราชทินนามเรียกเจ้าเมืองถลาง ในรุ่นต่อๆ มา"
"12.พระยาสุรินทราชา (จัน จันทโรจน์วงศ์) ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง พ.ศ.2329
หลังเสร็จศึกถลาง พ.ศ.2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้เจ้าพระยาสุรินทราชา(จัน จันทโรจน์วงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตก 8 หัวเมือง อัญเชิญสารตราตั้งมามอบแก่ท่านผู้หญิงจันและคุณมุก เพื่อปูนบำเหน็ดที่ทำคุณแก่แผ่นดิน"
"13.ท้าวเทพกระษัตรี(ท่านผู้หญิงจัน) พ.ศ.2329-2352
บุตรีจอมร้างบ้านเคียน สมรสกับหม่อมศรีภักดีเมื่อปี พ.ศ.2295 มีบุตรีชื่อแม่ปราง และบุตรชายชื่อคุณเทียน คุณหญิงจันเป็นผู้มีความสามารถทั้งในการปกครอง การค้า และการยุทธวิธี เป็นผู้นำชาวบ้านเมื่อยามต้องกอบกู้บ้านเมือง จนได้รับพระราชทานยศเป็นท้าวเทพกระษัตรี"
"14.ท้าวศรีสุนทร(คุณมุก) พ.ศ.2329-2352
เป็นบุตรีจอมร้างบ้านเคียน น้องสาวของท้าวเทพกระษัตรี เป็นผู้นำชาวบ้านรบเคียงบ่าเคียงใหล่พี่สาว จนได้รับพระราชทานยศเป็นท้าวศรีสุนทร"
"15.พระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงคราม รามคำแหง (คุณเทียน) พ.ศ.2332-2352
บุตรท้าวเทพกระษัตรีกับหม่อมศรีภักดี เป็นผู้มีความสามารถ ช่วยราชการทำสงครามด้วยความเสียสละตั้งแต่อายุยังรุ่น ได้รับยศศักดิ์เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ในปีพ.ศ.2319 ในปี พ.ศ.2329 ได้เลื่อนเป็นพระยาทุกราช ปลัดเมืองถลาง และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองถลาง มีราชทินนามว่าพระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงคราม เมื่อ ปีพ.ศ.2332 เป็นผู้สร้างเมืองถลางบางโรง ต้นตระกูลประทีป ณ ถลาง"
"16.พระยาถลางพาหะ(บุณคง) พ.ศ.2352-2370
เมื่อเมืองถลางบางโรง ถูกพม่าจุดไฟเผาเสียหมดสิ้นกลายเป็นเมืองร้าง ชาวถลางหนีไปพังงา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้พระยาถลางบุญคง บุตรชายของพระยาบริรักษ์ภูธร เจ้าเมืองตะกั่วทุ่งเป็นเจ้าเมืองดูแลชาวถลางที่บ้านกราภูงา"
"17.พระยาถลางเจิม(เจ๊ะมะหรือเจิม) พ.ศ.2352-2370
เป็นคนไทยเชื้อสายแขกมัทราส รับราชการในตำแหน่งหลวงล่ามภาษา ณ เมืองถลาง ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้านครศรีธรรมราชให้เป็นเจ้าเมืองถลาง มีราชทินนามเป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิสงคราม มีบุตรชายชื่อแก้ว ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองภูเก็จ"
"18.พระยาถลางพาหะ (ทอง) พ.ศ.2370-2380
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ย้ายเมืองถลางที่แม่น้ำกราภูงากลับมายังเกาะถลางตามเดิม โปรดให้พระยาถลางทองบุตรพระยาถลางบุญคง เป็นเจ้าเมืองที่ ""บ้านเมืองใหม่"" บริเวณตอนเหนือของเกาะถลาง มีราชทินนามว่า พระยาถลางพาหะ"
"19.พระยาถลางฤกษ์ (ฤกษ์ จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2380-2390
เป็นบุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา(จัน จันทโรจน์วงศ์) ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองถลาง เป็นผู้รื้อฟื้นตั้งเมืองถลางบางโรง ซึ่งเป็นมรดกเดิมของภริยา(คุณทุ่ม บุตรีพระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงคราม รามคำแหง)"
"20.พระยาถลางทับ (ทับ จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2370-2382
บุตรชายพระยาถลางฤกษ์ ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ย้ายเมืองถลางที่แม่น้ำกราภูงากลับมายังเกาะถลางตามเดิม โปรดให้พระยาถลางทองบุตรพระยาถลางบุญคง เป็นเจ้าเมืองที่ ""บ้านเมืองใหม่"" บริเวณตอนเหนือของเกาะถลาง มีราชทินนามว่า พระยาถลางพาหะ"
"21.พระยาถลางคิน (คิน จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2405-2422
ได้รับตำแหน่งต่อจากบิดา มีราชทินนามเดียวกัน"
"22.พระยาถลางเกต (เกต จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2422-2433
ได้รับช่วงตำแหน่งเจ้าเมืองจากพระยาถลางคิน ผู้เป็นพี่ชาย มีราชทินนามเดียวกัน"
"23.พระยศภักดี (หนู ณ ถลาง) พ.ศ.2433-2437
เป็นผู้สืบตระกูลชั้นแหลนของพระยาถลางทองพูน เจ้าเมืองถลางบ้านดอน ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธสงครามและท่านได้ย้ายเมืองถลางบางโรงไปอยู่ที่บ้านดอนอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2337 เมืองถลางถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองภูเก็จ ตำแหน่งเจ้าเมืองจึงถูกยุบตามไปด้วย"
"24.พระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์(แก้ว รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) สมัยรัชกาลที่ 3
เป็นบุตรพระยาถลางเจิม ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ตั้งสำนักว่าราชการเมืองถลางบริเวณอันเป็นแหล่งแร่ดีบุก ที่หมู่บ้านในตำบลกะทู้ (ชาวจีนเรียกว่า บ้านเก็ตโฮ่) นับเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การค้าและการตั้งเมือง กิจการเหมืองแร่เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องนำเข้าแรงงานคนจีนเข้ามาช่วยเป็นจำนวนมาก"
"25.พระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์(ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) สมัยรัชกาลที่ 4
บุตรพระภูเก็จฯ(แก้ว) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จสืบทอดจากบิดา ได้ทำการบุกเบิกกิจการเหมืองแร่ เป็นผลให้อาณาเขตเมืองภูเก็จขยายขึ้นตามไปด้วย จึงย้ายสถานที่ทำการของเจ้าเมืองจากบ้านกะทู้มาตั้งขึ้นที่บ้านทุ่งคาริมคลองบางใหญ่ และได้ทำการโปรดเกล้าเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระยาวิชิตสงคราม จางวาง(วิเศษ) เมืองภูเก็จ ในปี พ.ศ.2412"
"25.พระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์(ลำดวน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) พ.ศ.2412
บุตรพระภูเก็จฯ(ทัต) เมื่อบิดาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวิชิตสงคราม จึงทรงโปรดเกล้านายลำดวนขึ้นเป็นพระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็จ"

หมายเหตุ หัวเมืองฝ่ายตะวันตก 8 เมือง ได้แก่ เมืองถลางบางคลี, เมืองคุระ, เมืองคุรอด, เมืองเกาะรา, เมืองตะกั่วป่า, เมืองตะกั่วทุ่ง, เมืองพังงา และ เมืองภูเก็จ

ประวัติวัดพระทองและหลวงพ่อพระทอง

วัดพระทอง ตั้งอยู่ในตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางห่างจากสะพานสารสิน ประมาณ 25 กม. ประวัติของหลวงพ่อพระผุดและวัดพระทองได้มีการบันทึกและจัดพิมพ์โดยพระครูสุวรรณพุทธาภิบาล เจ้าอาวาสวัดพระทอง ไว้ดังนี้

ความเป็นมาของประวัติพระผุดและวัดพระทองนั้น เดิมทีสถานที่ที่ตั้งวัดอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่เป็นวัดมาก่อนเป็นทุ่งกว้าง มีนา มีลำคลอง มีหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ ของชาวบ้านชาวเมืองถลางในสมัยนั้น ชาวบ้านเรียกทุ่งนานี้ว่า ทุ่งนาใน เพราะมีนา มีลำคลองเป็นทุ่งลงมาจากภูเขาน้ำตก ลงเรื่อยมาระหว่างบ้านทั้งสองบ้าน คือบ้านนาในกับบ้านบ่อกรวด เป็นทุ่งลงไปจนถึงทะเลพังบ้านดอน อันเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของเจ้าเมืองถลางในสมัยนั้น และบัดนี้ชาวบ้านยังเรียกว่า ทุ่งนาใน อยู่จนทุกวันนี้

ในสมัยที่พบหลวงพ่อพระผุดนั้น เกิดมีพายุฝนตกมากน้ำท่วมทุ่งนา น้ำเข้าบ้าน เข้าป่า พัดพาต้นไม้หักพัง เหมือนกับพายุร้ายสมัยนี้ พอฝนหยุดน้ำไม่ท่วมแล้ว วันหนึ่งมีเด็กชายนำกระบือไปเลี้ยงยังทุ่งนานั้น หาที่ผูกเชือกกระบือสำหรับเลี้ยงข้างริมคลองนั้นไม่มี กิ่งไม้เล็กที่เคยผูกก็ถูกน้ำพัดพาไปหมด เด็กชายนั้นได้เห็นของสิ่งหนึ่งข้างริมคลองมีลักษณะเหมือนไม้แก่น มีโคลนตมติดอยู่ เลยนำเชือกกระบือไปผูกกับสิ่งเหล่านั้นแล้วเด็กก็กลับมาบ้าน พอเด็กถึงบ้านก็เกิดอาการเป็นลมล้มตายลงในเวลาเช้านั่นเอง พ่อแม่ของเด็กก็จัดการทำศพเด็กแล้วพอสาย ๆพ่อของเด็กก็ไปเลี้ยงกระบือ พอไปถึงที่ ๆ เด็กผูกกระบือไว้ก็เห็นกระบือตาย เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็เห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่เด็กคนนั้นเอาเชือกกระบือไปผูกไว้ เกิดความกลัวเลยตัดเชือกสำหรับผูกกระบือนั้นเสียครึ่งหนึ่ง แล้วนำกระบือไปฝังเสีย พอตกกลางคืนพ่อของเด็กชายผู้นั้นก็ฝันว่า ที่เด็กและกระบือได้ถึงแก่ความตายนั้น เพราะเด็กได้นำเชือกกระบือไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป พอรุ่งเช้าพ่อของเด็กก็ชวนเพื่อนบ้านไปยังที่ริมคลองที่เด็กนำกระบือไปผูกไว้กับวัตถุประหลาดนั้น ต่างคนต่างก็เอาน้ำมาล้างขัดสีเอาเชือกและโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จึงเห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปเป็นทองคำด้วย ชาวบ้านต่างแตกตื่นพากันมาบูชาสักการะกันมาก และพากันไปเรียนให้เจ้าเมืองทรงทราบ เจ้าเมืองสมัยนั้นอยู่บ้านดอน ระยะทางจากสถานที่พระผุดไปบ้านดอนที่ ๆ เจ้าเมืองประทับห่างกันประมาณ 3 กม. เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบ ก็รับสั่งให้ทำการขุดมาประดิษฐานไว้บูชาข้างบน แต่ขุดอย่างไรก็ไม่สำเร็จคือไม่สามารถขุดได้ เนื่องจากเกิดมหัศจรรย์มีตัวต่อแตนจำนวนมากขึ้นมากับดินที่ขุดขึ้นมานั้น และอาละวาดไล่ต่อยผู้ที่ขุด คนที่ไม่ขุดตัวต่อแตนจะไม่ทำอันตราย ส่วนผู้คนที่นำดอกไม้มากราบไหว้เข้าไปลูบคลำเกตุมาลาของพระผุดได้ ตัวต่อแตนไม่ทำอันตรายเลย ยังความมหัศจรรย์กับผู้พบเห็นเป็นอันมาก จึงพากันไปเรียนท่านเจ้าเมืองทรงทราบว่าไม่สามารถขุดได้ เพราะบางคนที่ถูกตัวต่อแตนต่อยอาละวาดเป็นพิษไข้ถึงแก่ความตาย ท่านเจ้าเมืองจึงรับสั่งให้ทำที่มุงที่บังเป็นสถานที่กราบไหว้เรื่อยมา ชาวบ้านคนไทยเรียน “พระผุด” เพราะเป็นพระพุทธรูปที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกตุมาลาสูงประมาณ 1 ศอก คนจีนเรียกว่า ภูปุ๊ค (พู่ฮุก) เพราะว่าคนจีนส่วนมากเขานับถือว่าเป็นพระผุดมาจากเมืองจีน และคนจีนในย่านเกาะภูเก็ต จังหวัดพังงา ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และจังหวัดกระบี่ ต่างก็พากันมาเคารพนับถือ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน (เดือน 3) ก็พากันมานมัสการเป็นประเพณีมา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมานมัสการตลอดทุกปีเป็นเสมอมา เหตุที่เป็นคนจีนอ้างว่าเป็นพระผุดมาจากเมืองจีนนั้น อาตมาเคยถามคนจีนแก่ ๆ ในภูเก็ตหลายท่านด้วยกัน ซึ่งก็จะเล่าเป็นทำนองเดียวกันว่า ในสมัยประมาณสองพันปีเศษ มีชาวธิเบต ไปบุกรุกเมืองจีน คนจีนได้เสียเมืองให้แก่ชาวธิเบต คงเหลือเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้เท่านั้น ซึ่งที่เมืองเซียงไฮ้นั้นมีพระพุทธรูป 3 องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองจีน 3 พี่น้องเป็นผู้สร้างพระทองคำประจำตระกูล 3 องค์ เล่ากันว่า เจ้าพี่องค์แรกครองเมือง 25 ปี ไม่มีมเหสี และบุตร เมื่อสวรรคตลง เจ้าองค์น้องที่สองเสวยราชย์ได้เก็บเอาทองคำทั้งหมดเทเป็นองค์พระพุทธรูปบูชาไว้บูช่าแทนตัวเจ้าพี่องค์แรก เจ้าองค์ที่สองครองราชย์ได้ 23 ปี ก็สวรรคต ครั้นเจ้าน้ององค์ที่สามครองราชย์ก็เก็บรวบรวมทองคำทั้งหมดของเจ้าองค์ที่สองเทเป็นพระพุทธรูปอีกองค์ใหญ่กว่าองค์ที่หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปองค์กลาง น้ององค์ที่สามเสวยราชย์ได้ 8 ปี ก็สวรรคต เจ้าต่างวงค์เสวยราชย์แล้วก็เก็บเอาทองคำของเจ้าแผ่นดินมาเทเป็นองค์พระพุทธรูปทองคำ รวมองค์พระ 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากในสมัยนั้น และในครั้นนั้นเองเมืองเชียงไฮ้ได้เสียให้แก่ชนชาติธิเบต ชาวธิเบตจึงได้นำเอาพระพุทธรูปองค์โตกว่าในสามองค์ ลงเรือพามาทางทะเลจีนเข้ามายังมหาสมุทรอินเดียเพื่อไปประเทศธิเบต เรือเกิดถูกลมพายุพัดเข้ามายังชายฝั่งพังงาและเรือก็จมลงตรงนี้เองเลยเกิดเป็นเกาะขึ้น เนื่องจากสวะมาจับเข้ากับเรือที่จมเลยเป็นเกาะตั้งแต่นั้นมา และพอดีที่ตรงพระพุทธรูปเป็นลำคลองเมื่อฝนตกหนัก ๆ น้ำเซาะตลิ่งพังหลวงพ่อก็โผล่ให้เห็นเพียงพระเกตุลา ส่วนองค์พระนั้นคงอยู่ใต้ดิน ยังขุดไม่ได้ คนจีนคนไทยจึงนับถือตลอดมา คนจีนบางท่านยังเล่าว่าหลวงพ่อผุดนี้เป็นพระพุทธรูปองค์กลางที่ชาวธิเบตขโมยมานั้นมีชื่อว่า “กิ้มมิ่นจื้อ”

อยู่มานานได้มีชีตาผ้าขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลาง รู้ว่าพระพุทธรูปทองคำผุดอยู่กลางท้องทุ่งนา ท่านรู้สึกกลัวว่าโจรผู้ร้ายจะตัดพาไปขายเสีย เลยชักชวนชาวบ้านแถว ใกล้ ๆ ไปเก็บเอาเปลือกหอยมาเผาไฟทำเป็นปูนขาวมาปนกับทรายโบกเอาไว้กันผู้ร้าย เลยเป็นสถานที่กราบไหว้เรื่อยมา

ต่อมาเมืองถลางได้เสียแก่พม่า พม่าโจมตีแบบจู่โจม คนไทยไม่ทันรู้ตัวถูกพม่าตีแตก เจ้าเมืองหนีไปอยู่ทางภูเก็ต และในสมัยนั้นเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ประจวบฯ ปราณบุรี จนถึงกรุงศรีอยุธยา พม่ายึดได้ พม่าจู่โจมแบบกองโจร เจ้าเมืองถลางหนีไปอยู่ทางภูเก็ต เจ้าเมืองถลางให้คนสนิทไปเรียนให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทรงทราบ เพราะในสมัยนั้นถลางขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทรงทราบแล้ว ก็ยกกำลังทหารมาช่วยเมืองถลาง พม่าเมื่อยึดเมืองถลางได้แล้วก็กวาดทรัพย์สินที่อื่นหมดแล้ว พอพม่ารู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำพม่าเลยรื้อสิ่งที่ชีตาผ้าขาวโบกไว้ออกหมด พม่าก็เห็นเป็นทอง พม่าอยากได้ทั้งองค์ พม่าก็เลยขุดหลวงพ่อพระผุด ในขณะที่พม่าทำการขุดนั้นจึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์มีมดคันตัวเล็ก ๆ ขึ้นมากับดินที่พม่าขุดเป็นจำนวนมาก คนโบราณเล่าว่าขึ้นมาเท่าลำตาล(เท่าต้นตาล) กัดพม่าไม่เลือก พม่าคนใดถูกมดคันกัดคนนั้นเป็นไข้จับสั่นล้มตายหลายร้อยคน ที่ตายก็ตายไปที่เหลือก็ขุดไป พม่าขุดถึงพระพักตร์เห็นสวยงามมาก พม่ามีความอยากได้ทั้งองค์ เมื่อมดคันกัดมาก ๆ เข้า พม่าเอาไฟเผาพอมดตายหมดแต่ดินร้อนพม่าก็ขุดไม่ได้ พม่าให้คนไทยเอาน้ำมารดให้ดินเย็นแล้วพม่าก็ขุดอีก พม่าที่ถูกมดกัดเกิดเป็นไข้ตายจำนวนมาก พม่าพยายามขุดไปจนถึงพระศอ(คอ) ก็ยิ่งเห็นความสวยงามมากขึ้น เมื่อเจ้าเมืองนครยกทหารไทยมาช่วยเมืองถลาง ก็ต้องผ่านเมืองตะกั่วทุ่งก็ต้องตีเมืองตะกั่วทุ่งกลับคืนจากพม่า ที่เมืองตะกั่วทุ่งเจ้าเมืองนครตีแตกเมืองตะกั่วทุ่งกลับคืนมาได้ก็ตีมาเรื่อย ๆ มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองถลาง แต่พม่าที่ถูกตีแตกจากเมืองตะกั่วทุ่งก็พาเรือข้ามฟากมายังเมืองถลางหมด เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมือ่มาถึงท่านุ่นจะข้ามเข้าเมืองถลางไม่ได้ เลยต้องทำแพ ทำเรือ เสียเวลานานประสบกับเวลานั้นมีเสียงคลื่นดังจัด พม่าเข้าใจว่าเป็นเสียงปืนของทหารฝ่ายเจ้าเมืองและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งคงจะรวบรวมกำลังพลได้และคงจะข้ามฟากมาได้แล้ว ก็เลยตกใจกลัวพากันลงเรือหนีกลับไป ทิ้งหลวงพ่อพระผุดให้โผล่เพียงพระศอ(คอ) เจ้าเมืองถลางก็ได้กลับเข้ามาตั้งเมืองที่ถลางใหม่ ใช้ชื่อว่า ค่ายท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ส่วนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็กลับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป สาเหตุที่เจ้าเมืองนครมาช่วยเมืองถลางก็เพราะว่าสมัยนั้นเมืองถลางขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

และในปีนั้นเอง ได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินธุดงค์มาจากเมืองเหนือ เมืองสุโขทัย มาปักกลดที่นี่ ได้เห็นหลวงพ่อพระผุดเป็นพระพุทธรูปโผล่เพียงพระศอ(คอ) และเป็นทองคำด้วย ท่านกลัวว่าโจรผู้ร้ายจะตัดไปขายเสีย ท่านจึงคิดว่าควรจะสร้างวัด เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่มีค่ามากท่านธุดงค์ต่อไปไม่ได้ ท่านเลยสร้างวัดขึ้นสมัยหลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ชื่อหลวงพ่อสิงห์ ท่านเลยชักชวนชาวบ้านสร้างกุฎิ วิหาร และสร้างอุโบสถ โดยให้เอาหลวงพ่อพระผุดเป็นพระประธานในอุโบสถ แล้วก่อสวนให้สูงขึ้น เพื่อสะดวกแก่กิจกรรมของสงฆ์ การก่อสวมสมัยนั้นก่อสวมเพียงแค่หน้าเท่านั้น แล้วต่อมาหลวงพ่อสิงห์ท่านได้จัดสร้าง กุฎิ โรงครัว หอฉัน ศาลาการเปรียญสำเร็จเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ผูกพัทธสีมาเรียบร้อย วัดนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดนาใน วัดพระผุด วัดพระหล่อคอ เพราะเป็นพระผุด และที่ว่าท่านเจ้าอาวาสองค์แรกชื่อว่าหลวงพ่อสิงห์นั้นท่านบอกนามของท่านในคราวท่านประทับทรง เมื่อคราวปลุกเสกเหรียญหลวงพ่อพระผุดปี 2511 และได้เล่าประวัติวัดนี้ให้ฟังด้วย เมื่อท่านสร้างวัดเรียบร้อยท่านผูกปริศนา (ลายแทง) ขึ้นไว้ด้วยแรงอธิษฐานว่า เจ้าอาวาสรูปใดแก้ปริศนานี้ไม่ได้ก็อยู่วัดนี้ไม่ได้นับตั้งแต่หลวงพ่อลงวัดนี้มีเจ้าอาวาส 14 องค์เท่านั้น คือ

1. หลวงพ่อสิงห์ 2. หลวงพ่อไชย

3. หลวงพ่อคงฆ์ 4. หลวงพ่อมั่น