วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

การถวาย "สังฆทาน" ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

เมื่อถึงวันเกิด หลายคนคงนึกอยากทำบุญ ซึ่งปกติอาจไม่ได้มีโอกาสทำบ่อยนัก การถวายสังฆทานคงเป็นอันดับต้นๆที่จะนึกถึงในการทำบุญวันเกิด เพราะเชื่อและได้ยินเขาว่ากันว่าเป็นการทำบุญที่ได้บุญมาก หลายคนอาจเลือกซื้อของที่อยากถวายเองเป็นถุงๆ หรือจะจัดใส่ภาชนะ เช่น ถัง ขัน กระติกน้ำ ก็ได้ หรือบางคนอาจต้องการความสะดวกสบาย จึงซื้อถังสีเหลืองที่บรรจุอาหารกระป๋อง ผ้า ของใช้ต่างๆ ที่วางขายตามร้านค้าต่างๆ แล้วก็นำไปถวายพระ โดยการกล่าวคำถวาย เสร็จแล้วพระก็ให้พร ก็เป็นอันเสร็จพิธี แล้วเข้าใจว่าอย่างนี้ คือ การถวายสังฆทาน

ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำเช่นนั้นอาจจะสำเร็จเป็น “สังฆทาน”ที่สมบูรณ์หรือไม่ก็ได้ เพราะคำว่า “สังฆทาน” ไม่ได้หมายถึง วัตถุที่นำไปถวาย หรือ “วัตถุทาน”เช่น ถังสีเหลืองที่บรรจุข้าวของ แต่หมายถึง การให้วัตถุทานแก่สงฆ์ เนื่องจากตามพระธรรมวินัย คำว่า “ภิกษุ” หมายถึง “ภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง” คำว่า “สงฆ์” หมายถึง “ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป” คำว่า “ทาน” แปลว่า “การให้” หมายถึง การตั้งใจให้ ซึ่งการให้ทานนั้นมีหลายประเภท ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลายประเภทนั้น ได้แก่ สังฆทาน

พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่าการถวายสังฆทาน เป็นทานที่มีอานิสงส์สูงที่สุด สูงกว่าแม้การถวายทานแด่พระพุทธเจ้าเอง เพราะการถวายสังฆทาน เป็นการให้ทานแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็นของกลางแก่วัด หรือเป็นของส่วนรวม ไม่ได้เจาะจงผู้รับ และไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยคณะสงฆ์ในวัดจะประชุมพิจารณาเพื่อตกลงกันว่า จะนำวัตถุทานที่ได้รับถวายมาไปใช้ในกิจการใด หรือ จะมอบให้แก่ภิกษุรูปใด ดังนั้นการถวายสังฆทานจึงเป็นการบำรุงรักษาวัดและภิกษุสงฆ์ให้มั่นคงสืบพระศาสนาต่อไปได้ พุทธศาสนิกชนจึงเชื่อว่า การถวายสังฆทานได้บุญมาก และนิยมกระทำกัน แต่มักจะขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้เขียนเคยเห็นและสังเกต พบว่าการถวายสังฆทานของคนส่วนใหญ่นั้น มักไม่สำเร็จเป็นสังฆทาน แต่กลายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือ เป็นทานที่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปที่รับถวายเท่านั้น เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทุกคนควรที่จะศึกษาให้รู้และเข้าใจให้ถูกต้อง

การถวายทานให้สำเร็จเป็น”สังฆทาน”นั้น ผู้ถวายจะต้องระบุว่าถวายเป็นสังฆทาน ภิกษุผู้รับถวายจะต้องมีไม่น้อยกว่า 4 รูป และเมื่อรับถวายแล้ว ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องทำการอปโลกน์ก่อน คือ ประกาศว่าเป็นของกลาง ใครต้องการจะใช้สามารถนำไปใช้ได้ แล้วจึงจะแจกจ่ายวัตถุทานที่ได้รับมาให้แก่ภิกษุสามเณรที่ต้องการได้ ถ้าครบกระบวนการทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ จึงจะเป็น”สังฆทาน”ที่สมบูรณ์ ทั้งด้านผู้ถวายและผู้รับถวาย ซึ่งจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไปดังนี้

1.ผู้ถวายสังฆทาน
ผู้ที่จะถวายสังฆทาน ควรทำใจให้สบายก่อนการถวาย มีความพอใจและเต็มใจที่จะถวาย ส่วนวัตถุทานที่จะถวายเป็นสังฆทานนั้น ควรเป็นของที่จำเป็นและสมควรแก่สมณเพศ เช่น อาหารสด อาหารแห้ง จีวร ยา หนังสือ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น และควรงดเว้นวัตถุที่ไม่สมควรแก่สมณเพศ เช่น อาวุธ ยาพิษ สุรา ยาเสพติด รูปภาพหรือวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกามารมณ์ เป็นต้น วัตถุทานนี้จะซื้อหามาจัดเอง หรือจะซื้อที่เขาจัดสำเร็จแล้ววางขายก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การถวายนั้น จะต้องบอกว่าถวายเป็นสังฆทานให้ชัดเจน เพราะถ้าไม่บอกให้ชัดเจน จะกลายเป็นทานที่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปที่เราถวายเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะบอกด้วยวาจาแก่ภิกษุที่เราถวายว่า ต้องการถวายของนี้เป็นของกลางแด่สงฆ์ก็ได้ หรือ จะกล่าวคำถวายสังฆทานอย่างที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณก็ได้ โดยในคำถวายนั้น จะต้องมีปรากฏคำว่า “สังฆัสสะ” และ “สังโฆ” อยู่ด้วย เพื่อให้ทราบว่าทานที่ถวายนี้เป็นการถวายเป็นสังฆทาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

อิมานิ มะยัง ภันเต, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมานิ, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ภัตตาหาร, พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระสงฆ์, ขอพระสงฆ์จงรับ, ภัตตาหาร, พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์,และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ

เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว ผู้ถวายก็นำวัตถุทานของตนเข้าไปถวาย โดยจะยกประเคน หรือเพียงวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์พอให้รู้ว่าได้ถวายก็ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ถวายควรพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะถ้าวัตถุทานนั้นเป็นของใช้หรือยา สามารถจะประเคนพระภิกษุได้ตลอดเวลา ไม่มีการหมดอายุของวัตถุทานนั้น แต่หากเป็นประเภทของเคี้ยวของฉัน ซึ่งจะต้องผ่านเข้าไปทางปากนั้น จะมีอายุจำกัดตามประเภทของวัตถุ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1) ยาวกาลิก คือ อาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น อาหารสด อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง นม โอวัลติน หากพระภิกษุท่านรับบาตรมาหรือรับประเคนด้วยมือแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียงเที่ยงของวันนั้น อาหารนั้นจะหมดอายุและไม่สามารถนำกลับมาฉันในวันต่อไปได้ หรือ หากรับประเคนหลังเที่ยง ก็จะหมดอายุทันทีที่รับประเคนนั้น ต้องสละให้สามเณรหรือเด็กวัดหรือญาติโยมไปบริโภคกัน

2) ยามกาลิก คือ น้ำผลไม้ที่ผ่านการกรองจนไม่มีเนื้อปนอยู่ และไม่ผ่านการตั้งไฟ (มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นอาหาร) โดยผลไม้ที่นำมาคั้นน้ำนั้น จะต้องมีขนาดไม่ใหญ่กว่าผลมะตูม (ประมาณเท่ากำปั้น) เมื่อพระรับประเคนแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียง 24 ชั่วโมง ก็จะหมดอายุ ส่วนที่เหลือจะต้องสละไป

3) สัตตาหกาลิก คือ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น (รวมถึง น้ำหวาน น้ำอัดลมด้วย แต่ไม่รวมนมข้นหวาน นมกล่อง) เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้ว จะเก็บไว้ฉันได้เพียง 7 วัน ก็จะหมดอายุ ส่วนที่เหลือต้องสละไป

4) ยาวชีวิก คือ ยารักษาโรค เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้ว สามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอดไปจนกว่าจะหมด

เพราะฉะนั้นหากในวัตถุทานที่จะถวายนั้น มีของเคี้ยวของฉัน 3 ประเภทแรกปนอยู่ ถ้าเรายกประเคนหมดทั้งถังหรือถาด อาจจะทำให้ของฉันนั้นหมดอายุก่อนที่พระท่านจะนำไปฉันหมดได้ หากต้องการให้ท่านเก็บไว้ฉันได้นานๆจนกว่าจะหมด ก็ควรแยกออกจากถังหรือถาด วางไว้โดยไม่ต้องยกประเคน แล้วเอาส่วนที่เหลือที่เป็นของใช้ยกประเคนท่าน พวกอาหารที่เราแยกออกวางไว้นั้น พระท่านจะให้เณรหรือโยมประเคนให้ในภายหลัง เมื่อท่านต้องการจะฉัน การทำอย่างนี้จะทำให้วัตถุทานที่ถวายเป็นประโยชน์กับพระท่านได้อย่างเต็มที่ และยังถูกต้องตามพระวินัยด้วย

2. ภิกษุสงฆ์ผู้รับถวายสังฆทาน
เนื่องจากสังฆทานเป็นทานที่ถวายแด่ “สงฆ์” คือ ภิกษุตั้งแต่ 4 รูป ขึ้นไป เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ถวายปรารถนาจะให้สำเร็จเป็นสังฆทานแท้จริง และไม่ทำให้ภิกษุท่านยุ่งยากภายหลัง ก็ควรถวายต่อหน้าภิกษุ 4 รูปขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นถวายที่วัดหรือที่บ้านก็ตาม ตามพระวินัย เมื่อสงฆ์รับการถวายสังฆทานแล้ว จะต้องให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ไม่ใช่ประธานสงฆ์ในที่นั้น กล่าวคำ “อปโลกน์” เป็นภาษาบาลีว่า

ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ, อะยัง ปะฐะมะภาโค เถรัสสะ ปาปุณาติ, อะวะเสสา ภาคา อัมหากัง ปาปุณันตุ, ภิกขุ จะ สามะเณรา จะ คะหัฏฐา จะ ยะถา สุขัง ปะริภุญชันตุ

ซึ่งเป็นการประกาศต่อที่ประชุมสงฆ์ เพื่อตกลงกันว่าจะแจกของนั้นกันอย่างไร ตามพระวินัย หากยังไม่ได้ทำการอปโลกน์ก่อนที่จะนำของที่ถวายมาเป็นของสงฆ์นั้นไปใช้แล้ว จะต้องอาบัติ คือ มีความผิด เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระผู้ที่ท่านรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ท่านจะให้ความสำคัญและระมัดระวังมาก เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปกราบนมัสการและถวายสังฆทานแด่หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ณ วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร เมื่อหลวงปู่ท่านรับประเคนแล้ว ท่านให้พระภิกษุที่เฝ้าอุปัฏฐากท่านกล่าวคำอปโลกน์ทันที แล้วแจกจ่ายของนั้นแก่ภิกษุสามเณรที่ต้องการใช้ต่อไป หรืออย่างหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ แห่งวัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร ศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็ได้ทราบว่าท่านจะไม่ยอมฉันยอมใช้ของที่ถวายแด่สงฆ์ ซึ่งยังไม่ผ่านการอปโลกน์เลย

สิ่งที่ควรตระหนักเกี่ยวกับสังฆทาน
1. ถ้ามีภิกษุผู้รับถวายสังฆทานไม่ถึง 4 รูป เช่น มีเพียงรูปเดียว ก็สามารถถวายสังฆทานได้เช่นกัน แต่ภิกษุผู้รับถวายนั้นจะต้องทำหน้าที่เหมือนตัวแทนสงฆ์รับถวายสังฆทาน เมื่อรับถวายแล้วจะต้องนำวัตถุทานนั้นไปกล่าวอปโลกน์ในที่ประชุมสงฆ์ที่วัดอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปใช้ จึงจะทำให้ทานนั้นสำเร็จสมบูรณ์เป็นสังฆทานได้ ถ้าภิกษุท่านรับถวายแล้ว ไม่ได้นำไปอปโลกน์ในที่ประชุมสงฆ์ ก็จะไม่เป็นสังฆทาน แต่กลายเป็นทานที่ถวายเฉพาะบุคคลไป แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่า ในส่วนของตัวผู้ถวายนั้น ได้บุญตั้งแต่ตอนที่ตั้งใจถวายทานเพื่อเป็นสังฆทานแล้ว ไม่ควรไปกังวลว่าพระท่านรับแล้วจะนำไปอปโลกน์หรือไม่ เพราะถ้าท่านไม่อปโลกน์แล้วนำไปใช้ ท่านจะต้องอาบัติ และเป็นบาปเป็นโทษแก่ท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของผู้ถวาย เหตุฉะนั้น ถ้าท่านพุทธศาสนิกชนไม่ปรารถนาจะให้ภิกษุท่านยุ่งยาก หรือต้องการจะให้เป็นสังฆทานที่แท้จริง ก็ควรถวายต่อหน้าภิกษุไม่น้อยกว่า 4 รูป ก็จะเป็นการดียิ่ง และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักษาพระธรรมวินัยและพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงด้วย

2. ในงานพิธีทำบุญในที่ต่างๆ โดยเฉพาะเป็นงานที่นิมนต์พระจากหลายวัด ถ้าจะมีการถวายทานเป็นสังฆทาน โดยในคำถวายปรากฏคำว่า “สังฆัสสะ” และ “สังโฆ” อยู่ ภิกษุที่อยู่ในงานนั้น ควรทำการอปโลกน์ทันทีที่ได้รับประเคนของเสร็จ ผู้เขียนเองเคยสังเกตพิธีทำบุญถวายภัตตาหารและสังฆทาน ที่นิมนต์เฉพาะพระวัดป่าสายท่านพระอาจารย์มั่นโดยเฉพาะ พบว่าเมื่อท่านได้รับประเคนสังฆทานในพิธีทำบุญนั้น ท่านจะกล่าวอปโลกน์ทันที เพื่อที่จะสามารถแจกอาหารที่เหลือให้ญาติโยมรับประทาน และนำเครื่องไทยทานต่างๆ แยกย้ายกลับไปตามวัดต่างๆได้โดยไม่ผิดพระวินัย แต่ในบางงานพบว่า ผู้นำกล่าวคำถวายทานเป็นผู้ฉลาด ไม่ปรารถนาจะให้พระท่านยุ่งยากในการอปโลกน์ และป้องกันบาปที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา จากการรับประทานอาหารซึ่งเป็นของสงฆ์และยังไม่ผ่านการอปโลกน์ จึงไม่กล่าวคำถวายทานเป็นการถวายสังฆทาน แต่ถวายเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อภิกษุ โดยเปลี่ยนคำว่า “สังฆัสสะ” เป็น “สีละวันตัสสะ” และจาก “สังโฆ” เป็น “สีละวันโต” และเปลี่ยนคำแปลจากคำว่า “พระสงฆ์” เป็น “ท่านผู้ทรงศีล” แทน

3. ถ้ามีการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานในเวลาระหว่างเช้าถึงเที่ยง ไม่ว่าจะเป็นที่วัดหรือที่บ้าน เมื่อพระท่านฉันอาหารแล้วมีอาหารเหลืออยู่ ญาติโยมจะนำไปรับประทานโดยพลการไม่ได้ จะต้องขออนุญาตจากพระสงฆ์ก่อนทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเกิดโทษเป็นบาปได้ เพราะอาหารนั้นเป็นของสงฆ์จนถึงเวลาเที่ยง แต่ถ้าเลยเที่ยงแล้ว ถึงสงฆ์จะยังไม่อนุญาตก็บริโภคได้โดยไม่เป็นบาป เพราะอาหารนั้นหมดอายุ ขาดจากความเป็นของสงฆ์แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตก่อน ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม

4. ของที่ได้ถวายเป็นของสงฆ์แล้ว ภิกษุจะนำไปขายหรือให้แก่ฆราวาสไม่ได้ จะเป็นบาปทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ เพราะของนั้นไม่ใช่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เป็นสมบัติกลางของวัด แม้ฆราวาสเองก็เช่นกัน จะเอาของที่คนเขาถวายเป็นของกลางแก่สงฆ์มาเป็นสมบัติของตนไม่ได้ ไม่ว่าจะซื้อมา ขอมา ขโมยมา หรือพระท่านให้ก็ตาม จะเป็นบาปอย่างมาก ตามที่มีตัวอย่างปรากฏในพระสูตร ท่านกล่าวว่า ภิกษุหรือฆราวาสที่นำของสงฆ์ไปเป็นของตน เมื่อตายไปจะกลายเป็นเปรต ได้รับทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานานกว่าจะสิ้นกรรมนั้น ฉะนั้น ท่านที่ได้กระทำดังที่กล่าว และทราบแล้วว่าเป็นบาป ควรคืนของสิ่งนั้นแก่วัดทันที ถ้าของนั้นชำรุดหรือสูญหาย ก็ควรจะซื้อหามาถวายคืนแก่วัด อย่าได้คิดเสียดาย เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ก็ควรรีบทำ เพราะถ้าตายเสียก่อน จะหมดโอกาสแก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง

หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจถึงวิธีการถวายสังฆทานให้เป็น”สังฆทาน”ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว และขอได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้แด่พุทธศาสนิกชนคนอื่นๆด้วย เพื่อให้ทุกคนได้ช่วยกันรักษาพระสงฆ์และพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่นับถือ “พุทธศาสนา”อย่างแท้จริง

คัดจาก http://www.walk2gether.net/forum/index.php?topic=2853.0

ปูมเจ้าเมืองถลางและเจ้าเมืองภูเก็จ

"1.ออกญาสุรินทราชา (เรอเน่ ชาร์บอนโน) พ.ศ.2224-2228
เป็นชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างป้อมปราการด้วยไม้เนื้อแข็งรอบตัวเมืองถลาง(บ้านดอน) มีหอคอยสูงสี่ด้านและเป็นป้อมค่ายที่ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ใช้ต่อสู้พม่าจนได้รับชัยชนะใน พ.ศ. 2228 ท่าขอกลับไปอยู่สถานฑูตที่กรุงศรีอยุธยา"
"2.พระยาสุรินทราชา (ซัวร์ เดอ บิลลี่) หรือจอมสุรินทร์บ้านลิพอน พ.ศ.2228-2231
เป็นชาวฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งแทนเจ้าเมืองคนก่อน พระยาสุรินทราชาท่านนี้ถูกปลดและเอาตัวไปลงโทษประหารชีวิต โทษฐานกบฏด้วยการให้ความช่วยเหลือนายพลเดซฟาสตร์ แม่ทัพฝรั่งเศสมายึดเมืองถลาง"
"3.พระยาถลางคางเซ้ง(คางเสง) พ.ศ.2231-2260
เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน สมเด็จพระเพทราชาทรงแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าเมืองถลาง มีจวนเจ้าเมืองอยู่บริเวณวัดพระทองปัจจุบันนี้ ท่านผู้นี้มีทายาทสืบสายเจ้าเมืองนานถึง 31 ปี"
"4.จอมเฒ่า(จอมทองคำ) พ.ศ.2261-2305
เป็นชาวเมืองถลางเชื้อสายนครศรีธรรมราช ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้านครศรีธรรมราชให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอน เป็นพี่ชายต่างมารดาของจอมร้างผ฿ครองเมืองบ้านตะเคียนและเป็นบิดาของพระยาถลางทองพูน"
"5.จอมร้าง พ.ศ.2261-2309
เป็นชาวเมืองถลางเชื้อสายนครศรีธรรมราช ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้านครศรีธรรมราชให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านตะเคียน เป็นบิดาของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร"
"6.พระยาถลางอาด(คุณอาด) พ.ศ.2309-2310
บุตรชายจอมร้าง น้องชายท้าวเทพกระษัตรี ได้รับการแต่งตั้งจากพระยานครศรีธรรมราช(หนู) ให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ต่อมาแม่ทัพเรือไทรบุรียึดเมืองถลาง ฆ่าพระอาดเจ้าเมืองถลาง"
"7.พระยาบกบัตรชู(พระยาถลางชู) พ.ศ.2310-2314
ยกบัตรชูเป็นชาวถลางโดยกำเนิด ได้ร่วมกับท้าวเทพกระษัตรี ม้าวศรีสุนทร เป็นผู้นำชาวบ้านส้องสุมผู้คนปล้นเอาเมืองคืนจากแม่ทัพเรือไทรบุรี เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง"
"8.เจ้าพระยาอินทวงศา อัครเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง พ.ศ.2319-2327
เมื่อเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการยกฐานะเป็นประเทศราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาอินทวงศา อัครเสนาบดี บุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ ออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2327 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ให้เกาะกุมตัวเจ้าพระยาอินทวงศา เข้ากรุงฐานกระด้างกระเดื่องต่อพระมหากษัตริย์ใหม่ ท่านจึงทำอัตนิวิบาตกรรมที่ค่ายปากพระ"
"9.พระยาพิมลอัยา(ขัน) พ.ศ.2314-2327
เดิมเป็นเจ้าเมืองพัทลุง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้ออกมาเป็นข้าหลวงพิเศษ ดูแลการค้าขายแร่ดีบุกที่เมืองถลาง และได้สมรสกับท้าวเทพกระษัตรี มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือแม่ทอง และคุรเนียม อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.2327"
"10.เจ้าพระยาฦาราชนิกูล ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง พ.ศ.2327-2330
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำรงตำแหน่งพระยาธัมไตรโลก แม่ทัพฝ่ายเหนือ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าให้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตก รบแพ้พม่า หนีจากค่ายปากพระไปสงขลา พ.ศ.2330 ต้องโทษฐานฉ้อโกงเงินค่าดีบุก"
"11.พระยาทุกราช(ทองพูน) หรือพระยาถลางเจียดทอง พ.ศ.2327-2332
เป็นบุตรจอมเฒ่าบ้านดอน ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพระยาฦาราชนิกูล ในฐานะข้าหลวงใหญ่หัวเมืองฝ่ายตะวันตก ให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองถลาง ต่อมามีราชทินนามว่าพระยาณรงค์เรืองฤทธิศรีสิทธิสงคราม อันราชทินนามเรียกเจ้าเมืองถลาง ในรุ่นต่อๆ มา"
"12.พระยาสุรินทราชา (จัน จันทโรจน์วงศ์) ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก 8 หัวเมือง พ.ศ.2329
หลังเสร็จศึกถลาง พ.ศ.2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้เจ้าพระยาสุรินทราชา(จัน จันทโรจน์วงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตก 8 หัวเมือง อัญเชิญสารตราตั้งมามอบแก่ท่านผู้หญิงจันและคุณมุก เพื่อปูนบำเหน็ดที่ทำคุณแก่แผ่นดิน"
"13.ท้าวเทพกระษัตรี(ท่านผู้หญิงจัน) พ.ศ.2329-2352
บุตรีจอมร้างบ้านเคียน สมรสกับหม่อมศรีภักดีเมื่อปี พ.ศ.2295 มีบุตรีชื่อแม่ปราง และบุตรชายชื่อคุณเทียน คุณหญิงจันเป็นผู้มีความสามารถทั้งในการปกครอง การค้า และการยุทธวิธี เป็นผู้นำชาวบ้านเมื่อยามต้องกอบกู้บ้านเมือง จนได้รับพระราชทานยศเป็นท้าวเทพกระษัตรี"
"14.ท้าวศรีสุนทร(คุณมุก) พ.ศ.2329-2352
เป็นบุตรีจอมร้างบ้านเคียน น้องสาวของท้าวเทพกระษัตรี เป็นผู้นำชาวบ้านรบเคียงบ่าเคียงใหล่พี่สาว จนได้รับพระราชทานยศเป็นท้าวศรีสุนทร"
"15.พระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงคราม รามคำแหง (คุณเทียน) พ.ศ.2332-2352
บุตรท้าวเทพกระษัตรีกับหม่อมศรีภักดี เป็นผู้มีความสามารถ ช่วยราชการทำสงครามด้วยความเสียสละตั้งแต่อายุยังรุ่น ได้รับยศศักดิ์เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ในปีพ.ศ.2319 ในปี พ.ศ.2329 ได้เลื่อนเป็นพระยาทุกราช ปลัดเมืองถลาง และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองถลาง มีราชทินนามว่าพระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงคราม เมื่อ ปีพ.ศ.2332 เป็นผู้สร้างเมืองถลางบางโรง ต้นตระกูลประทีป ณ ถลาง"
"16.พระยาถลางพาหะ(บุณคง) พ.ศ.2352-2370
เมื่อเมืองถลางบางโรง ถูกพม่าจุดไฟเผาเสียหมดสิ้นกลายเป็นเมืองร้าง ชาวถลางหนีไปพังงา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้พระยาถลางบุญคง บุตรชายของพระยาบริรักษ์ภูธร เจ้าเมืองตะกั่วทุ่งเป็นเจ้าเมืองดูแลชาวถลางที่บ้านกราภูงา"
"17.พระยาถลางเจิม(เจ๊ะมะหรือเจิม) พ.ศ.2352-2370
เป็นคนไทยเชื้อสายแขกมัทราส รับราชการในตำแหน่งหลวงล่ามภาษา ณ เมืองถลาง ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้านครศรีธรรมราชให้เป็นเจ้าเมืองถลาง มีราชทินนามเป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิสงคราม มีบุตรชายชื่อแก้ว ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองภูเก็จ"
"18.พระยาถลางพาหะ (ทอง) พ.ศ.2370-2380
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ย้ายเมืองถลางที่แม่น้ำกราภูงากลับมายังเกาะถลางตามเดิม โปรดให้พระยาถลางทองบุตรพระยาถลางบุญคง เป็นเจ้าเมืองที่ ""บ้านเมืองใหม่"" บริเวณตอนเหนือของเกาะถลาง มีราชทินนามว่า พระยาถลางพาหะ"
"19.พระยาถลางฤกษ์ (ฤกษ์ จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2380-2390
เป็นบุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา(จัน จันทโรจน์วงศ์) ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองถลาง เป็นผู้รื้อฟื้นตั้งเมืองถลางบางโรง ซึ่งเป็นมรดกเดิมของภริยา(คุณทุ่ม บุตรีพระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงคราม รามคำแหง)"
"20.พระยาถลางทับ (ทับ จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2370-2382
บุตรชายพระยาถลางฤกษ์ ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ย้ายเมืองถลางที่แม่น้ำกราภูงากลับมายังเกาะถลางตามเดิม โปรดให้พระยาถลางทองบุตรพระยาถลางบุญคง เป็นเจ้าเมืองที่ ""บ้านเมืองใหม่"" บริเวณตอนเหนือของเกาะถลาง มีราชทินนามว่า พระยาถลางพาหะ"
"21.พระยาถลางคิน (คิน จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2405-2422
ได้รับตำแหน่งต่อจากบิดา มีราชทินนามเดียวกัน"
"22.พระยาถลางเกต (เกต จันทโรจน์วงศ์) พ.ศ.2422-2433
ได้รับช่วงตำแหน่งเจ้าเมืองจากพระยาถลางคิน ผู้เป็นพี่ชาย มีราชทินนามเดียวกัน"
"23.พระยศภักดี (หนู ณ ถลาง) พ.ศ.2433-2437
เป็นผู้สืบตระกูลชั้นแหลนของพระยาถลางทองพูน เจ้าเมืองถลางบ้านดอน ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธสงครามและท่านได้ย้ายเมืองถลางบางโรงไปอยู่ที่บ้านดอนอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2337 เมืองถลางถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองภูเก็จ ตำแหน่งเจ้าเมืองจึงถูกยุบตามไปด้วย"
"24.พระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์(แก้ว รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) สมัยรัชกาลที่ 3
เป็นบุตรพระยาถลางเจิม ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ตั้งสำนักว่าราชการเมืองถลางบริเวณอันเป็นแหล่งแร่ดีบุก ที่หมู่บ้านในตำบลกะทู้ (ชาวจีนเรียกว่า บ้านเก็ตโฮ่) นับเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การค้าและการตั้งเมือง กิจการเหมืองแร่เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องนำเข้าแรงงานคนจีนเข้ามาช่วยเป็นจำนวนมาก"
"25.พระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์(ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) สมัยรัชกาลที่ 4
บุตรพระภูเก็จฯ(แก้ว) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จสืบทอดจากบิดา ได้ทำการบุกเบิกกิจการเหมืองแร่ เป็นผลให้อาณาเขตเมืองภูเก็จขยายขึ้นตามไปด้วย จึงย้ายสถานที่ทำการของเจ้าเมืองจากบ้านกะทู้มาตั้งขึ้นที่บ้านทุ่งคาริมคลองบางใหญ่ และได้ทำการโปรดเกล้าเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระยาวิชิตสงคราม จางวาง(วิเศษ) เมืองภูเก็จ ในปี พ.ศ.2412"
"25.พระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์(ลำดวน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) พ.ศ.2412
บุตรพระภูเก็จฯ(ทัต) เมื่อบิดาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวิชิตสงคราม จึงทรงโปรดเกล้านายลำดวนขึ้นเป็นพระภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็จ"

หมายเหตุ หัวเมืองฝ่ายตะวันตก 8 เมือง ได้แก่ เมืองถลางบางคลี, เมืองคุระ, เมืองคุรอด, เมืองเกาะรา, เมืองตะกั่วป่า, เมืองตะกั่วทุ่ง, เมืองพังงา และ เมืองภูเก็จ

ประวัติวัดพระทองและหลวงพ่อพระทอง

วัดพระทอง ตั้งอยู่ในตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางห่างจากสะพานสารสิน ประมาณ 25 กม. ประวัติของหลวงพ่อพระผุดและวัดพระทองได้มีการบันทึกและจัดพิมพ์โดยพระครูสุวรรณพุทธาภิบาล เจ้าอาวาสวัดพระทอง ไว้ดังนี้

ความเป็นมาของประวัติพระผุดและวัดพระทองนั้น เดิมทีสถานที่ที่ตั้งวัดอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่เป็นวัดมาก่อนเป็นทุ่งกว้าง มีนา มีลำคลอง มีหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ ของชาวบ้านชาวเมืองถลางในสมัยนั้น ชาวบ้านเรียกทุ่งนานี้ว่า ทุ่งนาใน เพราะมีนา มีลำคลองเป็นทุ่งลงมาจากภูเขาน้ำตก ลงเรื่อยมาระหว่างบ้านทั้งสองบ้าน คือบ้านนาในกับบ้านบ่อกรวด เป็นทุ่งลงไปจนถึงทะเลพังบ้านดอน อันเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของเจ้าเมืองถลางในสมัยนั้น และบัดนี้ชาวบ้านยังเรียกว่า ทุ่งนาใน อยู่จนทุกวันนี้

ในสมัยที่พบหลวงพ่อพระผุดนั้น เกิดมีพายุฝนตกมากน้ำท่วมทุ่งนา น้ำเข้าบ้าน เข้าป่า พัดพาต้นไม้หักพัง เหมือนกับพายุร้ายสมัยนี้ พอฝนหยุดน้ำไม่ท่วมแล้ว วันหนึ่งมีเด็กชายนำกระบือไปเลี้ยงยังทุ่งนานั้น หาที่ผูกเชือกกระบือสำหรับเลี้ยงข้างริมคลองนั้นไม่มี กิ่งไม้เล็กที่เคยผูกก็ถูกน้ำพัดพาไปหมด เด็กชายนั้นได้เห็นของสิ่งหนึ่งข้างริมคลองมีลักษณะเหมือนไม้แก่น มีโคลนตมติดอยู่ เลยนำเชือกกระบือไปผูกกับสิ่งเหล่านั้นแล้วเด็กก็กลับมาบ้าน พอเด็กถึงบ้านก็เกิดอาการเป็นลมล้มตายลงในเวลาเช้านั่นเอง พ่อแม่ของเด็กก็จัดการทำศพเด็กแล้วพอสาย ๆพ่อของเด็กก็ไปเลี้ยงกระบือ พอไปถึงที่ ๆ เด็กผูกกระบือไว้ก็เห็นกระบือตาย เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็เห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่เด็กคนนั้นเอาเชือกกระบือไปผูกไว้ เกิดความกลัวเลยตัดเชือกสำหรับผูกกระบือนั้นเสียครึ่งหนึ่ง แล้วนำกระบือไปฝังเสีย พอตกกลางคืนพ่อของเด็กชายผู้นั้นก็ฝันว่า ที่เด็กและกระบือได้ถึงแก่ความตายนั้น เพราะเด็กได้นำเชือกกระบือไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป พอรุ่งเช้าพ่อของเด็กก็ชวนเพื่อนบ้านไปยังที่ริมคลองที่เด็กนำกระบือไปผูกไว้กับวัตถุประหลาดนั้น ต่างคนต่างก็เอาน้ำมาล้างขัดสีเอาเชือกและโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จึงเห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปเป็นทองคำด้วย ชาวบ้านต่างแตกตื่นพากันมาบูชาสักการะกันมาก และพากันไปเรียนให้เจ้าเมืองทรงทราบ เจ้าเมืองสมัยนั้นอยู่บ้านดอน ระยะทางจากสถานที่พระผุดไปบ้านดอนที่ ๆ เจ้าเมืองประทับห่างกันประมาณ 3 กม. เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบ ก็รับสั่งให้ทำการขุดมาประดิษฐานไว้บูชาข้างบน แต่ขุดอย่างไรก็ไม่สำเร็จคือไม่สามารถขุดได้ เนื่องจากเกิดมหัศจรรย์มีตัวต่อแตนจำนวนมากขึ้นมากับดินที่ขุดขึ้นมานั้น และอาละวาดไล่ต่อยผู้ที่ขุด คนที่ไม่ขุดตัวต่อแตนจะไม่ทำอันตราย ส่วนผู้คนที่นำดอกไม้มากราบไหว้เข้าไปลูบคลำเกตุมาลาของพระผุดได้ ตัวต่อแตนไม่ทำอันตรายเลย ยังความมหัศจรรย์กับผู้พบเห็นเป็นอันมาก จึงพากันไปเรียนท่านเจ้าเมืองทรงทราบว่าไม่สามารถขุดได้ เพราะบางคนที่ถูกตัวต่อแตนต่อยอาละวาดเป็นพิษไข้ถึงแก่ความตาย ท่านเจ้าเมืองจึงรับสั่งให้ทำที่มุงที่บังเป็นสถานที่กราบไหว้เรื่อยมา ชาวบ้านคนไทยเรียน “พระผุด” เพราะเป็นพระพุทธรูปที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกตุมาลาสูงประมาณ 1 ศอก คนจีนเรียกว่า ภูปุ๊ค (พู่ฮุก) เพราะว่าคนจีนส่วนมากเขานับถือว่าเป็นพระผุดมาจากเมืองจีน และคนจีนในย่านเกาะภูเก็ต จังหวัดพังงา ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และจังหวัดกระบี่ ต่างก็พากันมาเคารพนับถือ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน (เดือน 3) ก็พากันมานมัสการเป็นประเพณีมา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมานมัสการตลอดทุกปีเป็นเสมอมา เหตุที่เป็นคนจีนอ้างว่าเป็นพระผุดมาจากเมืองจีนนั้น อาตมาเคยถามคนจีนแก่ ๆ ในภูเก็ตหลายท่านด้วยกัน ซึ่งก็จะเล่าเป็นทำนองเดียวกันว่า ในสมัยประมาณสองพันปีเศษ มีชาวธิเบต ไปบุกรุกเมืองจีน คนจีนได้เสียเมืองให้แก่ชาวธิเบต คงเหลือเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้เท่านั้น ซึ่งที่เมืองเซียงไฮ้นั้นมีพระพุทธรูป 3 องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองจีน 3 พี่น้องเป็นผู้สร้างพระทองคำประจำตระกูล 3 องค์ เล่ากันว่า เจ้าพี่องค์แรกครองเมือง 25 ปี ไม่มีมเหสี และบุตร เมื่อสวรรคตลง เจ้าองค์น้องที่สองเสวยราชย์ได้เก็บเอาทองคำทั้งหมดเทเป็นองค์พระพุทธรูปบูชาไว้บูช่าแทนตัวเจ้าพี่องค์แรก เจ้าองค์ที่สองครองราชย์ได้ 23 ปี ก็สวรรคต ครั้นเจ้าน้ององค์ที่สามครองราชย์ก็เก็บรวบรวมทองคำทั้งหมดของเจ้าองค์ที่สองเทเป็นพระพุทธรูปอีกองค์ใหญ่กว่าองค์ที่หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปองค์กลาง น้ององค์ที่สามเสวยราชย์ได้ 8 ปี ก็สวรรคต เจ้าต่างวงค์เสวยราชย์แล้วก็เก็บเอาทองคำของเจ้าแผ่นดินมาเทเป็นองค์พระพุทธรูปทองคำ รวมองค์พระ 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากในสมัยนั้น และในครั้นนั้นเองเมืองเชียงไฮ้ได้เสียให้แก่ชนชาติธิเบต ชาวธิเบตจึงได้นำเอาพระพุทธรูปองค์โตกว่าในสามองค์ ลงเรือพามาทางทะเลจีนเข้ามายังมหาสมุทรอินเดียเพื่อไปประเทศธิเบต เรือเกิดถูกลมพายุพัดเข้ามายังชายฝั่งพังงาและเรือก็จมลงตรงนี้เองเลยเกิดเป็นเกาะขึ้น เนื่องจากสวะมาจับเข้ากับเรือที่จมเลยเป็นเกาะตั้งแต่นั้นมา และพอดีที่ตรงพระพุทธรูปเป็นลำคลองเมื่อฝนตกหนัก ๆ น้ำเซาะตลิ่งพังหลวงพ่อก็โผล่ให้เห็นเพียงพระเกตุลา ส่วนองค์พระนั้นคงอยู่ใต้ดิน ยังขุดไม่ได้ คนจีนคนไทยจึงนับถือตลอดมา คนจีนบางท่านยังเล่าว่าหลวงพ่อผุดนี้เป็นพระพุทธรูปองค์กลางที่ชาวธิเบตขโมยมานั้นมีชื่อว่า “กิ้มมิ่นจื้อ”

อยู่มานานได้มีชีตาผ้าขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลาง รู้ว่าพระพุทธรูปทองคำผุดอยู่กลางท้องทุ่งนา ท่านรู้สึกกลัวว่าโจรผู้ร้ายจะตัดพาไปขายเสีย เลยชักชวนชาวบ้านแถว ใกล้ ๆ ไปเก็บเอาเปลือกหอยมาเผาไฟทำเป็นปูนขาวมาปนกับทรายโบกเอาไว้กันผู้ร้าย เลยเป็นสถานที่กราบไหว้เรื่อยมา

ต่อมาเมืองถลางได้เสียแก่พม่า พม่าโจมตีแบบจู่โจม คนไทยไม่ทันรู้ตัวถูกพม่าตีแตก เจ้าเมืองหนีไปอยู่ทางภูเก็ต และในสมัยนั้นเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ประจวบฯ ปราณบุรี จนถึงกรุงศรีอยุธยา พม่ายึดได้ พม่าจู่โจมแบบกองโจร เจ้าเมืองถลางหนีไปอยู่ทางภูเก็ต เจ้าเมืองถลางให้คนสนิทไปเรียนให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทรงทราบ เพราะในสมัยนั้นถลางขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทรงทราบแล้ว ก็ยกกำลังทหารมาช่วยเมืองถลาง พม่าเมื่อยึดเมืองถลางได้แล้วก็กวาดทรัพย์สินที่อื่นหมดแล้ว พอพม่ารู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำพม่าเลยรื้อสิ่งที่ชีตาผ้าขาวโบกไว้ออกหมด พม่าก็เห็นเป็นทอง พม่าอยากได้ทั้งองค์ พม่าก็เลยขุดหลวงพ่อพระผุด ในขณะที่พม่าทำการขุดนั้นจึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์มีมดคันตัวเล็ก ๆ ขึ้นมากับดินที่พม่าขุดเป็นจำนวนมาก คนโบราณเล่าว่าขึ้นมาเท่าลำตาล(เท่าต้นตาล) กัดพม่าไม่เลือก พม่าคนใดถูกมดคันกัดคนนั้นเป็นไข้จับสั่นล้มตายหลายร้อยคน ที่ตายก็ตายไปที่เหลือก็ขุดไป พม่าขุดถึงพระพักตร์เห็นสวยงามมาก พม่ามีความอยากได้ทั้งองค์ เมื่อมดคันกัดมาก ๆ เข้า พม่าเอาไฟเผาพอมดตายหมดแต่ดินร้อนพม่าก็ขุดไม่ได้ พม่าให้คนไทยเอาน้ำมารดให้ดินเย็นแล้วพม่าก็ขุดอีก พม่าที่ถูกมดกัดเกิดเป็นไข้ตายจำนวนมาก พม่าพยายามขุดไปจนถึงพระศอ(คอ) ก็ยิ่งเห็นความสวยงามมากขึ้น เมื่อเจ้าเมืองนครยกทหารไทยมาช่วยเมืองถลาง ก็ต้องผ่านเมืองตะกั่วทุ่งก็ต้องตีเมืองตะกั่วทุ่งกลับคืนจากพม่า ที่เมืองตะกั่วทุ่งเจ้าเมืองนครตีแตกเมืองตะกั่วทุ่งกลับคืนมาได้ก็ตีมาเรื่อย ๆ มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองถลาง แต่พม่าที่ถูกตีแตกจากเมืองตะกั่วทุ่งก็พาเรือข้ามฟากมายังเมืองถลางหมด เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมือ่มาถึงท่านุ่นจะข้ามเข้าเมืองถลางไม่ได้ เลยต้องทำแพ ทำเรือ เสียเวลานานประสบกับเวลานั้นมีเสียงคลื่นดังจัด พม่าเข้าใจว่าเป็นเสียงปืนของทหารฝ่ายเจ้าเมืองและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งคงจะรวบรวมกำลังพลได้และคงจะข้ามฟากมาได้แล้ว ก็เลยตกใจกลัวพากันลงเรือหนีกลับไป ทิ้งหลวงพ่อพระผุดให้โผล่เพียงพระศอ(คอ) เจ้าเมืองถลางก็ได้กลับเข้ามาตั้งเมืองที่ถลางใหม่ ใช้ชื่อว่า ค่ายท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ส่วนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็กลับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป สาเหตุที่เจ้าเมืองนครมาช่วยเมืองถลางก็เพราะว่าสมัยนั้นเมืองถลางขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

และในปีนั้นเอง ได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินธุดงค์มาจากเมืองเหนือ เมืองสุโขทัย มาปักกลดที่นี่ ได้เห็นหลวงพ่อพระผุดเป็นพระพุทธรูปโผล่เพียงพระศอ(คอ) และเป็นทองคำด้วย ท่านกลัวว่าโจรผู้ร้ายจะตัดไปขายเสีย ท่านจึงคิดว่าควรจะสร้างวัด เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่มีค่ามากท่านธุดงค์ต่อไปไม่ได้ ท่านเลยสร้างวัดขึ้นสมัยหลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ชื่อหลวงพ่อสิงห์ ท่านเลยชักชวนชาวบ้านสร้างกุฎิ วิหาร และสร้างอุโบสถ โดยให้เอาหลวงพ่อพระผุดเป็นพระประธานในอุโบสถ แล้วก่อสวนให้สูงขึ้น เพื่อสะดวกแก่กิจกรรมของสงฆ์ การก่อสวมสมัยนั้นก่อสวมเพียงแค่หน้าเท่านั้น แล้วต่อมาหลวงพ่อสิงห์ท่านได้จัดสร้าง กุฎิ โรงครัว หอฉัน ศาลาการเปรียญสำเร็จเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ผูกพัทธสีมาเรียบร้อย วัดนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดนาใน วัดพระผุด วัดพระหล่อคอ เพราะเป็นพระผุด และที่ว่าท่านเจ้าอาวาสองค์แรกชื่อว่าหลวงพ่อสิงห์นั้นท่านบอกนามของท่านในคราวท่านประทับทรง เมื่อคราวปลุกเสกเหรียญหลวงพ่อพระผุดปี 2511 และได้เล่าประวัติวัดนี้ให้ฟังด้วย เมื่อท่านสร้างวัดเรียบร้อยท่านผูกปริศนา (ลายแทง) ขึ้นไว้ด้วยแรงอธิษฐานว่า เจ้าอาวาสรูปใดแก้ปริศนานี้ไม่ได้ก็อยู่วัดนี้ไม่ได้นับตั้งแต่หลวงพ่อลงวัดนี้มีเจ้าอาวาส 14 องค์เท่านั้น คือ

1. หลวงพ่อสิงห์ 2. หลวงพ่อไชย

3. หลวงพ่อคงฆ์ 4. หลวงพ่อมั่น

ประวัติท้าวเทพกระษัตรี - ท้าวศรีสุนทร

คุณจัน เป็นบุตรีคนแรกของจอมร้างบ้านเคียน ซึ่งเกิดจากนางหม้าเสี้ย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน เมื่ออายุสมควรจะมีเรือน บิดามารดาก็ได้จัดการแต่งงานให้กับหม่อมภักดีภูธร (สามีคนแรก) มีธิดา 1 คน คือแม่ปราง และบุตร 1 คน คือนายเทียน หลังจากคลอดนายเทียน หม่อมภักดีภูธรเสียชีวิตลง คุณจันอยู่เป็นหม้ายจนกระทั่งแต่งงานครังที่สองกับพระยาพิมลอยา (ขัน) ภายหลังเป็นพระยาสุรินทราชาพิมลภูธร (ขัน) มีบุตรธิดาอีก 2 คน คุณจันเป็นผู้ประกอบด้วยความงาม มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวสมกับเป็นบุตรีของจอมร้างบ้านเคียน จึงเป็นที่สนิมเสน่หาของบิดามารดาและวงศ์ญาติทั้งหลาย เมื่อบิดามารดาแก่เฒ่า คุณจันก็ได้รับภาระปกครองผู้คนบ่าวไพร่ และดูแลการงานภายในครอบครัวแทนบิดามารดาโดยเด็ดขาด

คุณมุกเป็นบุตรีคนที่ 2 ของจอมร้างบ้านเคียน ซึ่งเกิดจากนางหม้าเสี้ย มีกิริยาสุภาพอ่อนโยนทั้งมีสติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่ย่อหย่อนกว่าคุณจันผู้พี่ เป็นที่สนิทเสน่หาของบิดามารดา และวงศ์ญาติเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งงานกับผู้ใดหรือไม่

เมื่อจอมร้างบ้านเคียนถึงแก่กรรมลง พระยาสุรินทราชาพิมลอยา (ขัน) เป็นเจ้าเมือง ท่านผู้หญิงจันเป็นแม่เมืองปกครองเมืองถลางด้วยความสงบสุขสืบมา ครั้นเมื่อพระยาสุรินทราชาพิมลอยา (ขัน) เจ้าเมืองเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระพุธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชการที่ 1 ได้ให้ทหารมาจับกุมตัวท่านผู้หญิงจันเป็นเชลยศึกไปที่ค่ายปากพระ ในข้อกล่าวหาที่ว่าสามีเป็นหนี้แผ่นดิน ส่วนแผ่นดินพม่ามีพระเจ้าปดุงครองราชสมบัติใต้ฟ้าแผ่นดินอังวะลุปี พ.ศ.2328 พม่าได้เตรียมกองทัพใหญ่ด้วยพระประสงค์ที่จะขยายอาณาเขต ด้วยกองทัพที่ยิ่งใหญ่แกร่งกล้าในการรบ สามารถปราบรามัญ ไทยใหญ่ มณีปุระยะไข่ รวบรวมไพร่พลได้ถึง 144,000 คน จัดเป็นทัพใหญ่หมายโจมตีสยามประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงคราม 9 ทัพ พม่ายกทัพเข้าบุกตีค่ายปากพระ ทหารของรัชการที่ 1 แตกพ่าย ท่านผู้หญิงจันในขณะนั้นยังถือว่าเป็นเชลยศึก ได้หนีข้ามเขตมายังบ้านไม้ขาว บ้านสาคู และบ้านเคียน เข้าเขตเมืองถลาง

แม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่นคุมกำลังเข้าตีหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองกระบุรี ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่เมืองถลางขุมคลังของสยาม

ข่าวทัพเรือพม่าบุกโจมตี กอรปกับเจ้าเมืองถลางเสียชีวิตเป็นข่าวร้ายที่ทำร้ายจิตใจชาวเมืองถลาง ให้อยู่ในความหวาดกลัว ไม่มีที่พึ่งหมดหวัง แต่พลังใจทั้งมวลกลับตั้งมั่นด้วยจิตใจที่เข้มแข็งของท่านผู้หญิงจันและคุณมุกน้องสาว ดดยได้นำกำลังจากบ้านสาคู บ้านในยาง บ้านดอน บ้านไม้ขาว บ้านแขนน บ้านลิพอน บ้านเหรียงมาเตรียมการรบ ณ วัดพระนางสร้าง

ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ามาเร่งก่อสร้างค่ายบริเวณโคกชนะพม่า เพื่อเตรียมโจมตีเมืองถลาง ส่วนท่านผู้หญิงจัน คุณมุก และคณะกรมการเมืองวางแผนตั้งค่ายประชันค่ายข้าศึก เตรียมปืนใหญ่ตรึงไว้ดึงเวลาได้หลายวันเป็นผลให้เสบียงอาหารของพม่าลดน้อยลง และวางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวคล้ายทหารไทย เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกมาถือแทนอาวุธ ทำทียกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงดึกลวงพม่าว่าเมืองถลางมีกำลังมาเสริมทุกคืน ทำให้พม่าคาดการณ์กองกำลังเมืองถลางผิดพลาด การศึกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 1 เดือนเศษ กำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหาร เมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่ นำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่ายิงคบเพลิงเข้าไปผสม ครั้นเมื่อยิงปืนใหญ่ถูกค้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญและแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1147 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2328 เป็น ...วันถลางชนะศึก...

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน ให้ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ดำรงยศอันมีศักดิ์แก่ฐานานุรูป เป็นศรีแก่เมืองถลางและวงศ์ตระกูลสืบไป