วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

แนวทางง่าย ๆ การเพิ่มผลผลิตยางพารา

วิธีการง่าย ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา

1. รักษาความชื้นของหน้าดิน โดยการถางหญ้าอย่างถูกวิธีตามฤดูกาล

2. ใส่ปุ๋ยชีวภาพปีละ 2 ครั้ง (100-300 กก./ไร่/ปี)

3. รดหรือพ่นน้ำหมักฮอร์โมน เดือนละ 2 ครั้ง ในช่วงที่ดินมีความชื้น

4. ใส่ปุ๋ยเคมีโดยตรวจสอบแร่ธาตุในดินก่อน แล้วเติมแร่ธาตุที่ยังขาดอยู่เท่านั้นเพื่อลดต้นทุน

ความต้องการแร่ธาตุของต้นยางพาราหลังเปิดกรีดแล้วเป็นดังนี้ (คิดที่ยางให้ผลผลิต 300 กก./ไร่)
- N 20 กก.
- P 5 กก.
- K 25 กก.
- Mg 5 กก.
หากผลผลิตเพิ่มมากกว่านี้เช่น 600 กก./ไร่/ปี เราจะต้องเพิ่มปุ๋ยอีกเป็น 2 เท่า หรือโดยสรุปต้องใส่ปุ๋ยเคมี 4 กก./ต้น/ปี เมื่อผลผลิตที่ได้ 600 กก./ไร่/ปี จึงจะเพียงพอเพื่อชดเชยกับผลผลิตที่เราเอาออกจากต้นยาง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราบริหารจัดการอย่างถูกวิธี อาจลดปุ๋ยลงเหลือเพียง 2 กก./ต้น เมื่อเราใส่ปุ๋ยหมัก ผสมภูไมท์ในปุ๋ยเคมีเพื่อดูดซับแร่ธาตุไว้และค่อย ๆ ปลดปล่อยอย่างช้า ๆ ใส่ปุ๋ยโดยขุดร่องแล้วฝังกลบเพื่อป้องกันการระเหยของปุ๋ย ซึ่งอาจสูญเสียได้ถึง 30 %

5. การกรีดยางต้องกรีดให้ถึงเยื่อเจริญ ซึ่งทำให้ท่อน้ำเลี้ยงขาดเสียหายไม่สามารถส่งขึ้นไปสังเคราะห์น้ำยางที่ทรงพุ่มได้ ผลผลิตลดลง ต้นแคระแกรน รักษาหน้ายางให้ปราศจากโรครา โดยใช้สารชีวภาพทาหน้ายางเดือนละ 2 ครั้ง เลื่อนหน้ายางให้ถูกแนวกล่าวคือเมื่อขึ้นหน้าใหม่ต้องเลือนถอยหลัง(ตามเข็มนาฬิกา) มิเช่นนั้นจะเป็นการตัดท่อน้ำยางก่อนถึงรอยกรีด

6. ป้องกันการขโมยน้ำยางจากบุคคลภายนอก หรือแม้แต่คนกรีดเอง

7. ทำยางแผ่นให้มีคุณภาพ หรือร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่มี เพื่อให้ผลผลิตมีราคาสูง จะได้ไม่เสียโอกาศ

8. การเปิดครอปแต่ละครั้ง ให้เปิดกรีดต้นฤดูฝนเมื่อดินมีความชื้นพอสมควรแล้ว และหยุดกรีดเมื่อยางเริ่มผลัดใบ มิใช่ยางผลัดใบและเริ่มแตกใบอ่อนแล้ว เพราะเมื่อยางผลัดใบแล้วก็ไม่มีใบที่จะสังเคราะห์แสง ผลผลิตที่ได้ในช่วงนี้ควรให้ต้นยางได้เก็บสะสมไว้ในลำต้นเพื่อการแตกใบใหม่เถอะ ใบใหม่ที่แตกออกมาจะได้แข็งแรงไม่เป็นโรคง่าย

9.กรีดระบบ 1 วัน เว้น 2 วัน มิเช่นนั้นอาจเจอปัญหาหน้าแห้ง ยางไม่เติบโต ต้นเล็กแคระเกร็น ยางที่อายุ 15 ปี ควรมีเส้นรอบลำต้นไม่น้อยกว่า 100 ซม.

10. เมื่อสภาพดินพร้อม ต้นยางโตได้ขนาด(เส้นรอบลำต้น 60 ซม. ขึ้นไป) ก็ใช้ฮอร์โมนแอทธิลีนเพิ่มศักยภาพการผลิต อย่ากลัวหน้าแห้ง หรือ ต้นยางตายเลย ทุกสิ้งทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการ ระบบดีแต่ใช้ผิดวิธีก็เสียหาย



มาตี่

นวัตกรรมใหม่ของชาวสวนยางพาราไทย

ในยุคการค้าเสรีที่ไร้พรมแดน ทุกอาชีพต้องมีการแข่งขันกันเพื่อให้เหลือเฉพาะรายที่เกร่งจริง ๆ เท่านั้น ผลประกอบการของทุกอาชีพควรได้รับผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อรวมอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก กล่าวคือผลตอบแทนควรมากกว่า 20 % ขึ้นไป

สำหรับพื้นที่ปลูกยางในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณไร่ละ 200,000 - 300,000 บาท ชาวสวนยางจึงควรสร้างรายได้จากสวนยางให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/ปี/ไร่ ซึ่งเป็นผลตอบแทนประมาณ 20 %

ปัจจุบันผลตอบแทนจากสวนยางพาราได้จาก

1. มูลค่าราคาที่ดินที่สูงขึ้น ประมาณปีละ 5-10 % (250,000 * 5 % ประมาณ 12,500 บาท)

2. ผลผลิตจากยางแผ่น ที่ผลผลิตประมาณไม่น้อยกว่า 600- 1,000 กก./ไร่/ปี (คิดที่ราคายางแผ่นเฉลี่ย 70 บาท/กก. รายได้ 600 กก.*70 บาท ประมาณ 42,000 บาท)

3. รายได้จากพืชแซม เช่น ผลผลิตจากกอไผ่ ไม้เศรษฐกิจ ไม้พุ่ม (ผักเหมียง) ประมาณ 5,000 บาท/ไร่/ปี

4. รายได้จากกการขายไม้ยางที่อายุ 50 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1,500 บาท/ไร่/ปี

กล่าวโดยสรุป หากสามารถทำสวนยางให้เป็นไปตามเงื่อนไขรายได้ข้างต้น จะมีรายได้ประมาณ 61,000 บาท/ไร่/ปี เป็นผลตอบแทนที่คุ้มกับอัตราเงินเฟ้อรวมอัตราดอกเบี้ย

ทำสวนยางพาราอย่างไรให้ได้ผลผลิต 600-1,000 กก./ไร่/ปี

1. ทำเลที่ตั้งสวนยาง ต้องมีความชื้น หน้าดินไม่ตื้นเกินไป ความลาดชันไม่สูงมากไป หากลาดชันสูงใช้เครื่องทุนแรงยาก ค่าใช้จ่ายสูง ในกรณีที่บางส่วนเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ก็ควรใช้เครื่องจักรกลปรับสภาพพื้นที่ ยกร่อง ขุดคูระบายน้ำ ไม่ให้รากยางแช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ

2. จัดระยะปลูกให้เหมาะสม ระยะปลูกที่เหมาะสมคือระยะปลูกที่ต้นยางมีพื้นที่ทรงพุ่มกว้างสามารถสังเคราะห์แสงผลิตน้ำยางให้เราได้มากที่สุด และสามารถเติบโตขยายลำต้นมีเส้นรอบวงลำต้นได้ไม่น้อยกว่า 120 ซม. เมื่อถึงเวลาโค่นขาย ในกรณีที่ปลูกยางสายพันธุ์ยอดฮิต RRIM 600 ระยะที่เหมาะสมคือ 3*8 หรือ 3*9 ซึ่งจะปลูกยางได้ 60-67 ต้น/ไร่ หากอัตรารอดไม่น้อยกว่า 90 % จะได้ต้นยางประมาณ 54-60 ต้น/ไร่ และเมื่อดูแลอย่างปราณีตให้เติบโตสม่ำเสมอทั้งแปลง ควรจะได้ต้นยางพร้อมกรีดขนาดเส้นรอบวงลำต้น 60 ซม. ที่อายุ 6 ปีเต็ม ไม่น้อยกว่า 50- 60 ต้น/ไร่

3. การจัดวางผังแนวแถวยาง ต้องวางแนวยางตามแนวตะวัน ทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการโค่นล้มจากลม และให้สามารถรับแสงเพื่อการสังเคราะห์แสงได้เท่า ๆ กันทุกต้น การตัดถนนหลัีก และ ถนนซอยในแปลงให้มีขนาดกว้างเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรทุ่นแรง เช่น ถนนหลักกลางอกยาง และ ถนนซอยขวางทุก ๆ 100 เมตร(กรณีใช้สายเครื่องพ่นยา 50 เมตร จะพ่นได้สองข้าง ซ้ายขวา) กว้าง ประมาณ 4 เมตร แนวรอบแดนสวนควรปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อเป็นกำบังลมและสามารถสู้กับต้นไม้หรือยางเก่าของพื้นที่ติดแดน

4. พันธุ์ยาง ควรเลือกพันธุ์ยางให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค ใบร่วงน้อย เพื่อให้สามารถสังเคราะห์แสงผลิตน้ำยางได้มากตลอดปี พันธุ์ยางแนะนำได้แก่

- RRIM 600
- RRIT 251 (ยางพื้นเมือง อ.นาทวี จ.สงขลา)
- สายพันธุ์ลุงฉิ้ม จ.ตรัง (DRC 45-48%)
และสายพันธุ์ยางใหม่จากมาเลเซียที่ให้ผลผลิตสูงและโตเร็ว ได้แก่
- RRIM 2001
- RRIM 929
- RRIM 2027
- PB 350
สายพันธุ์ยางเหล่านี้ สามารถให้ผลผลิตได้ที่ 500 กก./ไร่/ปี เมื่อบำรุงรักษาอย่างดี และโตเร้ว ที่อายุ 4 ปี มีขนาดเส้นรอบวง 50-60 ซม.

5. วิธีการปลูก ควรเลือกใช้วิธีปลูกเมล็ดในแปลงแล้วติดตาในแปลง ทั้งนี้เพื่อให้ยางหยั่งรากแก้วลงไปในดินได้ลึก สามารถดูดซึมน้ำใต้ดินได้ลึก และ ไม่โค่นล้มง่าย หากินเก่ง เมล็ดยางที่ใช้ควรเป็นเมล็ดสายพันธุ์พื้นเมืองหรือ GT1 หรือ BPM 24 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคไฟท๊อปเทอร่า หากินเก่ง ต้นตอเหล่านี้ต้องบำรุงรักษาตั้งแต่แรกให้ลำต้นสมบูรณ์ก่อนติดตา

6. การติดตา เลือกกิ่งตาที่สมบูรณ์เท่านั้น คัดเลือก 2 ตา/กิ่ง เมื่อตัดยอดเดิมแล้วให้ใช้ไม้มบบังตา เพื่อป้องก้นกิ่งตาใหม่หักเสียหาย

7. เทคนิคการใส่ปุ๋ย ให้เลือกใส่เฉพาะต้นเล็กที่โตช้าเท่านั้น เพื่อให้ต้นยางโตสมำาเสมอเท่ากันทั้งแปลง หลังจาก 2 ปีไปแล้วต้นยางโตเท่ากันจึงใส่ปุ่ยให้ทุกต้น ประมาณ 3-4 ครั้ง/ปี (ใส่น้อยแต่บ่อยครั้ง) ยางจะโตอย่างรวดเร็ว ยางอายุ 5 ปี เส้นรอบลำต้นประมาณ 50-60 ซม.

8. หมั่นตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ต้นยางสูญเสียโอกาศเติบโตไปกับกิ่งแขนง

9. ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพควบคู่กับการฉีดน้ำหมักฮอร์โมน เพื่อทำให้สภาพดินมีวงจรสิ่งมีชีวิตที่สมดุลย์ ดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุ ช่วยอุ้มน้ำ pH ดินต่ำลง จุลินทรีย์ในดินช่วยย่อยสลายธาตุประกอบ P และ K ให้อยู่ในรูปที่ยางสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ดี ควรมีอินทรีย์วัตถุ 2 ส่วน และ รำ 1 ส่วน และมีแร่ธาตุเสริม เช่น ภูไมท์ แร่ฟอสเฟต ขี้ค้างคาว เป็นส่วนผสม และไม่ควรอัดเม็ด เพราะความร้อนจะทำให้จุลินทรีย์ตายได้

ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ควรมีอินทรีย์วัตถุประมาณ 5 % (ซึ่งสภาพดินทั่วประเทศมีอินทรีย์วัตถุเพียง 2 % เท่านั้น) เราจึงควรเติมอินทรีย์วัตถุให้ดิน 100-300 กก./ไร่/ปี

10. ยางพาราที่อายุ 4-8 ปี ควรได้รับแคลเซี่ยม-แมกนีเซี่ยม เพื่อสร้างทรงพุ่มประมาณ 1-1.5 กก./ต้น/ปี

11. การรักษาความชื้นหน้าดิน โดยการปลูกพืชแซมเพื่อคลุมดิน เช่น ผักเหมียง ไผ่ ไม้สะเดา ทัง ตะเคียนทอง กล้วยขายใบ ฯลฯ หลังจากยางอายุ 4 ปีไปแล้ว ต้องบริหารจัดการหญ้าให้ถูกต้องตามฤดูกาล กล่าวคือ ถางด้วยรถแทรกเตอร์เมื่อเข้าฤดูเปิดกรีด 1 ครั้ง และอีกครั้งช่วงเดือนตุลาคม แต่ถางเฉพาะทางเดิน 2 ข้างเท่านั้น เว้นตรงกลางเพื่อรักษาความชื้น หรือตัดต่ำ ๆ หากกลัวเรื่องไฟไหม้สวนก็ให้ถางเตียนริมแดนรอบสวนเท่านั้น

12. การเปิดกรีดครั้งแรก ให้เปิดกรีดเมื่อยางมีเส้นรอบวงลำต้นขนาดไำม่น้อยกว่า 60 ซม. เพื่อให้ต้นยางสามารถเจริญเติบโตได้ต่อเนื่องหลังจากเปิดกรีดแล้ว

13. การเปิดกรีดระบบรักษาหน้ายาง เปิดกรีดหน้าสั้น 4 นิ้ว ร่วมกับการใช้ฮอร์โมนเร่งน้ำยาง กรีด 1 วัน เว้น 2-3 วัน
- การกรีดระบบนี้มีประโยชน์มากในเรื่องการประหยัดหน้ายาง (สามารถกรีดหน้าแรกได้ไม่ต่ำกว่า 50 ปี)
- กรีด 1 วัน เว้น 2-3 วัน จะช่วยให้ต้นยางมีเวลาได้สังเคราห์น้ำยางจากน้ำตาลที่อยู่ในน้ำเลี้ยง ซึ่งปกติใช้เวลา 72 ชม.
- แผลกรีดแต่ละครั้งควรหนาไม่เกิน 2.5 มม. ซึ่งในระยะกรีด 1 ปี มีรอยกรีด 60 ครั้ง สูญเสียหน้ายางประาณ 15 ซม. ที่หน้ายางความสูง 120 ซม. จะสามารถกรีดได้ 7 ปี และต้นยางที่อายุ 15 ปี มีขนาดเส้นรอบลำต้นประมาณ 90-100 ซม. (หากบำรุงรักษาดี) จะสามารถแบ่งหน้ากรีดได้ประมาณ 10 หน้า (กรณียางมีอายุมากกว่า 10 ปี จะสามารถกรีดได้สูงถึง 150 ซม. หน้ายางหน้านี้สามารถกรีดได้ 8 ปี)

จะเห็นได้ว่าระบบนี้ทำให้ท่านสามารถกรีดยางหน้าแรกได้ถึง 50 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องโค่นปลูกใหม่ ซึ่งการกรีดระบบเก่าสูญเสียหน้ายางเร็วมากและต้องโค่นปลูกใหม่บ่อยเป็นการสูญเสียทางเศณษฐกิจอย่างร้ายแรง

ยางพาราที่อายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่ขนาดรอบลำต้น 120 ซม. ควรมีน้ำหนักมวลรวม 1,500 กก. จะสามารถให้ผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 กก./ไร่/ปี

14. การใช้เสื้อกันฝน เป็นการป้องกันน้ำฝนลงถ้วยรับน้ำยาง สามารถเพิ่มวันกรีดในฤดูฝนได้อีก 20 วัน/ปี หรือได้ผลผลิตเพิ่ม 200 กก./ไร่/ปี (1 ครั้งกรีด ได้ผลผลิต 10-18 กก./ไร่) เราไม่ควรสูญเสียโอกาศเก็บผลผลิตในช่วงฤดูฝนซึ่งดินมีความชื้นสูง

15. การให้ผลตอบแทนคนกรีดยาง คนกรีดยางควรมีรายได้ประมาณ 120,000 - 180,000 บาท/ครอบครัว/ปี เพื่อจูงใจให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและีรักงาน มีใจร่วมกับเจ้าของสวนในการบำรุงรักษาต้นยาง รักษาหน้ายาง เสมือนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ


สิ้งต่าง ๆ เหล่านี้ที่กล่าวมาเป็นเพียงเกล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ชาวสวนยางอาจละเลย หากท่านเอาใจใส่จดบันทึกจะเห็นตัวเลขชัดเจน เราหวังว่าชาวสวนยางทุก ๆ ท่าน จะหันมาสนใจในธุรกิจสวนยางที่ท่านทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม จักได้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำมากกว่าเดิมคุ้มค่าการลงทุน

หากชาวสวนยางสนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ ยินดีให้คำแนะนำทุกประการ นอกจากนี้เรายังสามารถให้คำแนะนำการใช้ฮอร์โมนแอทธิลีนเร่งน้ำยางของทุก ๆ ระบบ (เพราะลองมาหมดแล้ว) มีข้อมูลและสวนตัวอย่างให้ดู และนอกเหนือจากนี้ยังให้คำแนะนำอื่น ๆ อีกเช่น

- การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อใส่ปุ่ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน ไม่ต้องสุ่มใส่ปุ๋ยสูตรโดยไม่รู้สภาพดินเดิม จะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย
- คำแนะนำแหล่งปุ๋ยคุณภาพที่ราคาไม่แพง
- มีปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพคุณภาพสูง แบ่งกันใช้ในหมู่เหล่า ไม่ทำเป็นการค้า
- มีน้ำหมักชีวภาพสูตรผสมพิเศษ ทาหน้ายางรักษาโรคเชื้อรา และทำให้เปลือกนิ่ม กรีดง่าย
- รับให้คำปรึกษาการทำสวนยางอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงประเด็น


มาตี่